นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีสื่อรายงานตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสุนัขรายที่ 2 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในฮ่องกง โดยผู้ป่วยรายนี้เลี้ยงสุนัขสายพันธ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด (German Shepherd) อายุ 2 ปี 1 ตัว และสุนัขพันธ์ผสมอายุ 4 ปี 1 ตัว สุนัขทั้ง 2 ตัว ได้รับการแยกเพื่อไปกักดูอาการ และเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลังทางจมูก และปาก ในวันที่ 18 มีนาคม 2563 และในวันที่ 19 มีนาคม 2563 พบผลบวกต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียงในสุนัขพันธ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด เท่านั้น ซึ่งจากนี้กรมประมงและอนุรักษ์ของฮ่องกง (AFCD) จะดำเนินการติดตามอาการสัตว์ และเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมสุนัขทั้ง 2 ต่อไป
จากการตรวจในครั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากยังไม่มีรายงานหรือหลักฐานที่ชัดเจนถึงการติดเชื้อของคนจากสัตว์เลี้ยง หรือแพร่ให้สัตว์อื่นได้ ทั้งนี้สุนัขที่ติดเชื้อต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว 10 วันหลังวันเริ่มติดเชื้อ ดังนั้นในสุนัขสายพันธ์ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian) ที่มีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรก ให้ผลลบต่อการตรวจการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ซึ่งแสดงว่าสัตว์อาจไม่ได้ติดเชื้อหรือติดเชื้อในระดับต่ำจนไม่มีสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์โรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการดังนี้
1. สื่อสารข้อมูล ความเสี่ยง และองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ให้แก่สัตวแพทย์และประชาชนทั่วไป
2. การประสานงาน และการกำหนดแนวทาง/มาตรการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสัตวแพทย์ สัตวแพทยสภา สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ
3. เตรียมความพร้อม จัดทำแผนเฝ้าระวังในสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น สัตว์เลี้ยงของผู้ป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรคโควิด-19 (เฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเท่านั้น) ในสัตว์เลี้ยงที่นำเข้าจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มว่า ขอให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง ถ้ามีอาการป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับสัตว์เลี้ยง ควรให้บุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีเป็นผู้ดูแลสัตว์แทน และสามารถติดต่อปรึกษา หรือ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง หรือ โทร. สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-255-6888 และ application DLD 4.0 "