กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 4 ราย โดย 3 รายที่เพิ่มเข้ามาในวันนี้เป็นคนไทย รายแรก ชายวัย 70 ปีที่มีโรควัณโรคร่วมด้วย, รายที่ 2 ชายวัย 79 ปีเกี่ยวข้องการติดเชื้อจากสนามมวย ซึ่งมีอาการหนักตั้งแต่แรกรับเข้ามาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค ส่วนรายที่ 3 เป็นชายวัย 45 ปี มีภาวะเบาหวานและโรคอ้วน
ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้มีเพิ่มขึ้น 106 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยเพิ่มเป็น 827 ราย กลับบ้านได้แล้ว 57 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 766 ราย และยังมีผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 4 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันเพิ่มขึ้น 106 รายดังกล่าว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ดังนี้ กลุ่มแรก 25 ราย เป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายเดิม แบ่งเป็น 1) ผู้ป่วย 5 รายที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวย ทั้งสนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน ทั้งผู้ชมและเซียนมวย ในกรุงเทพฯ, นครปฐม, สมุทรสาคร และอุบลราชธานี 2) ผู้ป่วย 6 รายมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยกลุ่มสถานบันเทิง ทั้งย่านทองหล่อ, RCA, นานา ทั้งนักท่องเที่ยว พนักงานเสิร์ฟ ในจังหวัดสระบุรี, กรุงเทพฯ, บุรีรัมย์ และชลบุรี 3) ผู้ป่วย 12 ราย ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายเดิม มีทั้งพนักงานขายเสื้อผ้า, เซียนมวย, พนักงานบริการ, ราชการ ที่มีประวัติร่วมรับประทานอาหาร, ดื่มสุราร่วมกับผู้ป่วยในกลุ่มสถานบันเทิง และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวย 4) ผู้ป่วย 2 รายจากปัตตานีเดินทางไปร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย
กลุ่มที่สอง 34 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ ประกอบด้วย 1) เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, นักศึกษา, พนักงานร้านค้าที่ปอยเปต และชาวต่างชาติ 12 ราย คือ ฝรั่งเศส, สวีเดน, ปากีสถาน, อังกฤษ และนิวซีแลนด์ 2) เป็นกลุ่มที่ทำงานหรืออาศัยในที่แออัด 10 ราย และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยชาวต่างชาติ เช่น รปภ., พนักงานรับรถ, พนักงานขับรถรับนักท่องเที่ยว, คนขับแท็กซี่, พนักงานเสิร์ฟ, มักคุเทศก์ และพนักงานที่ทำงานในสถานบันเทิง โดยอยู่กรุงเทพฯ จันทบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ภูเก็ต นครราชสีมา 3) บุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ นครปฐม
กลุ่มที่สาม 47 ราย ได้รับผลจากห้องแล็ปยืนยันพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างการสืบสวนโรค และรอประวัติ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลสถานที่ชุมชนที่มีการประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตนเองใน 25 แห่งใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ขอนแก่น กรุงเทพฯ สงขลา นครราชสีมา นนทบุรี และสุรินทร์ โดยผู้ที่อยู่ในสถานที่และช่วงเวลาตามประกาศ ให้รายงานตัวต่อพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผอ.โรงพยาบาล, นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และผู้นำชุมชนทัน โดยให้กักตัวเอง และสังเกตอาการ 14 วัน หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลการประกาศสถานที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่ เพจไทยรู้สู้โควิด และเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงกรณีหากรัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะเพียงพอต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศได้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเรียนรู้สถานการณ์มาจากประเทศต่างๆ ที่ได้เริ่มมีการแพร่ระบาดมาก่อน ซึ่งหลายประเทศได้ยกระดับการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น แต่การยกระดับมาตรการจะเพียงพอหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ
"ในประเทศที่มีการปกครองแบบจีน มาตรการมีความเข้มข้นตั้งแต่แรก และได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ได้รับรายงานตัวเลขที่ลดน้อยลง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน และระยะของโรคด้วย ถ้าปล่อยให้ระบาดมากๆ ไปแล้ว แล้วค่อยมาทำ แค่ไหนก็ไม่พอ ณ ตอนนี้เราอยู่ในระยะที่ตัวเลขยังไม่ถึงพัน ถ้าความร่วมมิอของเราเข้มข้นมากกว่าทุกประเทศ เชื่อได้ว่าไม่ต้องใช้ยาแรงกว่านี้ หรือใช้กฎอะไรมากกว่านี้
กฎทุกอย่างอยู่ที่ทุกท่านเองจะปฏิบัติหรือไม่ แม้โทษปรับจะแรงขึ้นเพิ่มเป็นล้าน ถ้าทุกคนไม่มีปฏิบัติ ทุกคนยังอยู่ที่บ้าน ไม่มีใครไปตามจับท่านได้ อยู่ที่จิตสำนีกและความร่วมมือร่วมใจกัน ห่วงใยกันแค่ไหน กฎระเบียบคือสิ่งที่เราพยายามเรียกร้องกันขึ้นมา แต่เรียกร้องแล้วจะมีผลกระทบตามมา เราจะลำบากกันทุกคน มีบางประเทศประกาศเคอร์ฟิว ออกไปไหนไม่ได้
ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากให้ภาครัฐประกาศมาตรการที่เข้มข้น ต้องกลับมาที่ตัวเราเอง ร่วมมือตั้งแต่วันนี้ ถ้า กทม.ประกาศแล้วได้ผล จะเป็นตัวอย่างของทุกจังหวัดได้ทั้งหมด แล้วไม่ต้องประกาศอะไรเพิ่มเติมอีกเลย เราอยากเห็นภาพนี้มากๆ" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ 15 มี.ค.จะพบยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) กว่า 11,000 ราย และในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อแล้ว 827 ราย
ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา การแพร่ระบาดเริ่มกระจายไปสู่ 47 จังหวัด จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ สำหรับอัตราการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 7 วัน จะพบว่าถ้าเป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯ จะมี่อัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:3.4 คน หากเป็นผู้ป่วยในต่างจังหวัด (สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, ภูเก็ต) จะมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:2.2 คน และหากเป็นจังหวัดอื่นๆ จะมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:1.8 คน
"การลดความพยายามในการเคลื่อนย้ายคนจากจังหวัดสู่จังหวัด จะเป็นการช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องช่วยกันในการปฏิบัติตัวตามประกาศต่างๆ ที่ทางราชการได้ออกมา รวมทั้งการปฏิบัติตัวเองด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing" พญ.วลัยรัตน์ระบุ