รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.จนถึงวันที่ 30 เม.ย.63 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรึโดยความห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทั้งยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการระบาดใหญ่ และขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดยิ่งขึ้น
การระบาดของโรคดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับมีการกักตุนสินค้าจำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งต้องป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน
ส่วนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน
ต่อมา สำนักนายกรัฐมนตรี มีแถลงการณ์ตามมา โดยระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นว่าสถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสดได้แล้วเพื่อให้รัฐจะสามารถนำมาตรการอื่น ๆ มาบังคับใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนจะเลือกใช้มาตรการใดก่อน-หลังจะมีการออกประกาศและข้อกำหนดแจ้งให้ทราบต่อไป
ผลจากการประกาศดังกล่าวคือรัฐบาลจะมีช่องทางตามกฎหมายเข้าควบคุมหรือบริหารสถานการณ์ได้ เช่น จะมีการโอนอำนาจบางประการของรัฐมนตรีตามกฎหมายบางฉบับมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเท่าที่จำเป็น และเป็นการชั่วคราว เพื่อความรวดเร็วและบูรณาการ จะมีการออกข้อกำหนดคือข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติบางอย่าง เช่น ห้ามเข้าออกสถานที่บางแห่ง ห้ามหรือจำกัดการเข้าออกราชอาณาจักรและการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากข้ามเขตพื้นที่ การควบคุมการใช้ยานพาหนะ เส้นทางจราจร การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
มาตรการเหล่านี้แม้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และแม้ว่าสถานการณ์จากตัวเลขจำนวนผู้ได้รับเชื้อและการเสียชีวิตในประเทศจนถึงปัจจุบันจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่หากยังคงมีการเคลื่อนย้ายหรือเดินทาง การรวมกลุ่มคนจำนวนมากเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน การติดต่อสัมผัสหรือใกล้ชิดและการขาดความรู้ความเข้าใจความรับผิดชอบ ตลอดจนการไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรการป้องกันโรคตามหลักสากล
ประกอบกับกำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาเทศกาลและการเปลี่ยนฤดูกาลตามธรรมชาติ เชื้อโรคโควิด-19 ย่อมมีโอกาสแพร่ไปได้เร็วและเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และกระทบต่อการใช้ทรัพยากรด้านการสาธารณสุขของประเทศ เช่น แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จนอาจขาดแคลนเข้าวันหนึ่ง อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียรุนแรงสุดจะประมาณได้ดังที่ปรากฏในบางประเทศในขณะนี้
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียแต่บัดนี้เพื่อความไม่ประมาท อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและคลายความวิตกกังวลของประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะช่วงเวลานี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาเลือกใช้เฉพาะมาตรการเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งแน่นอนว่าความสะดวกสบายของประชาชนในระหว่างนี้ย่อมลดน้อยลงกว่าเดิม เพราะทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่เกิดภาวะขาดแคลน
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจะได้ทยอยดำเนินการต่อไป