นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายฝ่ายที่ดำเนินการเรื่องของเทคโนโลยี ช่วยเหลือกระทรวงสาธารสุขเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข 3 ส่วนได้แก่ แอพพลิเคชั่นของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ใช้สำหรับผู้ต้องกักตัว 14 วัน และประชาชนทั่วไป มีประโยชน์ในการควบคุมผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ หรือ กลับจากประเทศเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไป จะนำไปกักตัวที่รัฐจัดสรรให้ หรือ กลับไปกักตัวที่บ้านเพื่อจะติดตามตัว ติดตามตัวผ่านมือถือ จะมีการกรอกข้อมูลสถานที่การกักตัว รายงานอาการแต่ละวัน
ทั้งนี้ ถ้าปฏิบัติตามข้อตกลงจริงจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าผู้ที่กักตัวเองไม่ปฏิบัติตามหรือไม่กักตัวในสถานที่ที่จัดสรร หรือออกจากพื้นที่เกิน 200 เมตรจะมีสถานะเป็นสีส้ม หรือถ้าเป็นสีแดงแสดงว่ากักตัวแล้วมีไข้หรือไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าพนักงานแนะนำจะมีเจ้าพนักงานเข้าไปตักเตือน และจะส่งไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่มี Home Quaranteen
ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มใช้แอพพลิเคชัน (วันที่ 11 – 25 มี.ค.63) มีผู้เดินทางจากต่างประเทศลงทะเบียนใช้แอพพลิเคชัน 24,132 คน และมีผู้ที่ต้องติดตามเฝ้าระวังจากพื้นที่ประกาศโรคติดต่ออันตราย จำนวน 14,343 ราย โดยหากเดินทางออกนอกพื้นที่เกินรัศมี 50 เมตร ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้ศูนย์ติดตามตัว
นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแอพพลิเคชัน DDC Care เพื่อใช้ติดตามกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในประเทศ โดยสามารถรู้พิกัดในระหว่างกักกันตัว 14 วัน อาการประจำวัน ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการติดตามในกลุ่มที่เดินกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้เดินทางมากที่สุด
สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าจะติดโรคโควิด-19 หรือไม่ สามารถประเมินความเสี่ยงตนเอง ก่อนมาโรงพยาบาล ผ่านระบบออนไลน์ที่ http://covid19.rajavithi.go.th/th_index.php ซึ่งจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ลดการเดินทางไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด