นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกจากบ้านน้อยลงมาก ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารที่มีการให้บริการส่งอาหารแบบฟู้ดดิลิเวอรี่มียอดสั่งอาหารเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และคาดว่าการส่งอาหารถึงบ้านจะได้รับนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ร้านอาหารหลายรายที่มีการให้บริการแบบส่งถึงบ้าน รวมถึงร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจที่ให้บริการส่งอาหาร พบว่ามียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว
ขณะเดียวกัน พนักงานส่งอาหารก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากปกติจะวิ่งรถช่วงเวลาประมาณ 10.00-17.00 น.รายได้ประมาณวันละ 250-300 บาท แต่ช่วงนี้ขยายเวลาวิ่งรถตั้งแต่ 07.00-21.00 น.เพราะลูกค้าสั่งสินค้ามากขึ้นทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 500-700 บาท
"ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจึงควรปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด อย่างช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนต้องเปลี่ยนไป เน้นการสั่งอาหารผ่านพนักงานส่งอาหารแบบมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีสำหรับร้านอาหารที่มีการให้บริการดังกล่าว ซึ่งทั้งร้านอาหาร ผู้ให้บริการ พนักงานผู้ส่งอาหาร และผู้บริโภคที่สั่งอาหาร ต่างได้รับความพึงพอใจ เข้าลักษณะ win win win ทั้ง 3 ฝ่าย" นายวีรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการร้านค้าส่งเสริมให้เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เข้าด้วยกัน เน้นทำการตลาดผ่านระบบฟู้ดเดลิเวอรี่ควบคู่ไปกับการบริการที่ดีเยี่ยมภายในร้าน รวมทั้ง มีระบบการชำระเงินแบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การบริการของผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยครบวงจรมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เป็นการเพิ่มยอดขายและรายได้ให้แก่ธุรกิจในระยะยาว โดยหลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงให้กรมรีบดำเนินการทันที
ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 15,260 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 106,461.97 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.63 ในปี 63 มีผู้จดทะเบียนธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 416 ราย ทุนจดทะเบียน 852.17 ล้านบาท