(เพิ่มเติม) ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 136 รายยอด ตจว.พุ่ง วอนประชาชนหยุดสัญจร

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2020 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 136 ราย ส่งผลให้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 1,524 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.63 มีการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นกว่าในกรุงเทพฯ

ขณะที่ข้อมูลจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. การเดินทางของประชาชนภาพรวมลดลงราว 40% เมื่อเทียบกับวันที่ 21 มี.ค.63 ซึ่งยังไม่มีประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อัตราการลดลงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ให้กระจายในวงกว้างได้ ซึ่งหากจะให้ได้ผลจะต้องทำให้ประชาชนลดการเดินทางลงมากกว่า 90%

"จะต้องขอความร่วมมือมากขึ้น เพราะต้องให้ได้มากกว่า 90% ถึงจะได้ผล ตอนนี้ลดลงไปแค่ 40% เศษ ยังไม่สามารถลดกราฟการแพร่ระบาดได้ ดังนั้นเราต้องมาร่วมมือกัน" โฆษก ศบค.ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า มีข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขติดเชื้อโควิด-19 เป็นชาย อายุ 46 ปี โดยเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประสานงาน และมีการเข้า-ออก ที่ ศบค. รวมถึงเข้าร่วมประชุมหลายคณะและหลายสถานที่ แต่ไม่ได้นั่งทำงานประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมีความเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรคพบว่าข้าราชการรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.63 มีน้ำมูก อาการคล้ายหวัดภูมิแพ้ แต่ไม่มีไข้ โดยมีการยืนยันติดเชื้อเมื่อคืนที่ผ่านมา (29 มี.ค.) และได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรแล้ว ขณะเดียวกันผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 30 คน ได้สั่งให้กักตัวเองเพื่อดูอาการแล้ว

สำหรับที่ทำเนียบรัฐบาล พบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกันบ้าง แต่ทุกคนมีการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี จึงถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ให้ตรวจสอบตนเองด้วย ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งหากมีอาการให้ไปพบแพทย์ อย่างไรก็ดี หากผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่มีอาการ ก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัดได้ แต่หากมีอาการกระทรวงสาธารณสุขก็จะต้องดูแลอย่างเข้มข้นต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงและขอให้ทุกคนดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด ทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันเมื่อช่วงเช้านี้ ที่ประชุมได้ขอความร่วมมืองดถ่ายทอดการชกมวยผ่านสถานีโทรทัศน์ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ แม้จะไม่มีผู้ชม แต่เกรงว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของนักมวย และอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่มีการมั่วสุมหรือรวมตัวเพื่อเชียร์มวย ซึ่งอาจมีการดื่มสังสรรค์ระหว่างเชียร์มวยไปด้วย

พร้อมขอความร่วมมือวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ต้องมีการสวมหน้ากากอนามัย เพราะหากมีผู้โดยสารซ้อนท้าย อาจนำไปสู่ความเสี่ยงได้ รวมถึงตามต่างจังหวัดที่ยังมีการใส่บาตร และมีธรรมเนียมตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงการแพร่เชื้อได้ หรือการทำวัตรเช้าที่มีพระอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ขอให้เพิ่มความระวัดระวังด้วย นอกจากนี้กองถ่ายโทรทัศน์ที่มีคนจำนวนมาก ก็ขอให้เพิ่มความระวัดระวังด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะจัดเครื่องบินไปรับคนไทยกว่า 7,000 คนในอิตาลีกลับมาประเทศไทยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเฟกนิวส์ ไม่เป็นความจริง แต่มีบางประเทศ เช่น ปากีสถาน โปแลนด์ ที่เดินทางกลับมาเอง และรับทราบว่า มี 8 ประเทศจะจัดเครื่องบินมารับคนของประเทศตัวเองกลับประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างประสานทางกระทรวงต่างประเทศว่าจะมารับกลับวันใด ช่วงเวลาใด

ส่วนคนไทยที่กลับจากประเทศมาเลเซีย ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศดูแลเป็นกรณีพิเศษ

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการปิดด่านพรหมแดนเข้า-ออกทางบกของประเทศไทยจะส่งผลให้คนไทยเดินทางกลับประเทศไทยได้หรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเดินกลับประเทศไทยได้ เพียงแต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด คือ ต้องมีหนังสือรับรองการเดินทางกลับไทยโดยสถานทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ออกให้ และต้องมีใบรับรองแพทย์ 72 ชั่วโมงที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพร้อมจะเดินทาง

ทั้งนี้ หากเดินทางด้วยอากาศยานต้องผ่านจุดคัดกรองที่สนามบินอีกครั้ง และถ้าพบมีไข้ต้องเข้ารับการตรวจรักษาทันที และเพื่อสร้างความมั่นใจทุกคนที่เดินทางกลับเข้าประเทศจะต้องถูกกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการตามข้อกำหนด ส่วนระดับท้องที่จะต้องมีการลงทะเบียน หากเดินทางเข้าพื้นที่แต่ละจังหวัด

กระทรวงมหาดไทยได้ใช้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประกอบการพิจารณาในแต่ละจังหวัด โดยล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด ได้สั่งปิดการเข้า-ออก จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และภูเก็ต และหยุดระบบขนส่งทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นถึง 1.2 ล้านคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ