นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 104 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมยอดเสียชีวิต 15 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวมสะสมขณะนี้ 1,875 ราย รักษาหายแล้ว 505 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 3 รายนั้น รายแรก เป็นชายไทยวัย 57 ปี เดินทางจากสุไหงโก-ลกไปยังประเทศปากีสถานเมื่อวันที่ 22 ก.พ. กลับมาไทย โดยลงที่สนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 29 มี.ค. จากนั้นเดินทางกลับสุไหง โก-ลก ด้วยรถไฟวันที่ 30 มี.ค. และเสียชีวิตบนรถไฟระหว่างทางที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 และมีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันสูง ขณะที่มีผู้ที่ต้องถูกกักตัวรอดูอาการ 15 คน
รายที่ 2 เป็นชายไทยวัย 77 ปี มีประวัติโรคถุงลมโป่งพอง เบาหวาน สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ โดยเริ่มป่วยวันที่ 18 มี.ค.มีไข้สูง 38 องศาฯ ไอ เจ็บคอ เข้ารักษาใน รพ.ที่ปัตตานี 20 มี.ค.และอาการแย่ลง จากนั้นได้เสียชีวิตวันที่ 31 มี.ค.63
รายที่ 3 เป็นชายไทยวัน 55 ปี อาชีพขับรถสาธารณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางกลับไป จ.สุรินทร์วันที่ 15 มี.ค. และพักอาศัยอยู่กับครอบครัวที่บ้านตลอดเวลา จากนั้นกลับมา กทม.ในวันที่ 16 มี.ค.เริ่มมีอาการไข้ ไอแห้งๆ อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูก วันที่ 18 มี.ค.ไปรับการรักษาที่คลีนิค และวันที่ 21 มี.ค.มีอาการเหนื่อยมากขึ้นจนกระทั่งเข้ารับการรักษา รพ.ในกทม.วันที่ 29 มี.ค.ต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 1 เม.ย.
สำหรับจำนวนผู้ป่วยใหม่ 104 รายที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ แยกเป็น กลุ่มแรก 60 คน เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ เช่น กลุ่มสนามมวย สถานบันเทิง พิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น กลุ่มสอง 36 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ เช่น คนไทยและต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ที่ไปในสถานที่แออัด เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต และผู้มีอาชีพเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มสาม 8 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค
ส่วนผู้ป่วยทั้งหมด 1,875 คนนั้น จากทั้งหมด 62 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นคนต่างชาติ 277 คน และคนไทย 1,598 คน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,005 คน รองลงมา เป็นภาคกลาง 262 คน ภาคใต้ 248 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 91 คน และภาคเหนือ 75 คน
นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือมาจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีคนไทยติดเชื้อกลับมาจากต่างประเทศหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางไปประชุมที่อิตาลี, ไปปฏิบัติศาสนกิจที่มาเลเซีย, อินโดนีเซีย รวมทั้งผู้ที่เดินทางกลับมาจากอังกฤษ และกัมพูชา ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการกักตัวผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 2-3 พันคน
ดังนั้นประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้สั่งการในที่ประชุม ศบค.วันนี้ คือตั้งแต่วันนี้ - 15 เม.ย.63 ให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและต่างชาติที่จะกลับมายังประเทศไทย ยกเว้นคนที่ขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว โดยขอให้ผู้ที่ยังมีความจำเป็นต้องกลับมาไทย ติดต่อกับสถานทูตประเทศนั้นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของประเทศนั้นอย่างเข้มงวดที่สุด
ส่วนกรณีนักเรียนทุน AFS จากสหรัฐฯ ที่เตรียมจะเดินทางกลับประเทศไทยในเร็วๆ นี้นั้น โฆษก ศบค. ระบุว่า ขอให้ผู้ปกครองติดต่อไปที่สถานกงสุล หรือสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศ ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าหากยังไม่มีความจำเป็นรีบด่วน ขอให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน
"อาจจะเลื่อนไปก่อน เดินทางช้าหน่อย ให้สบายใจจริงๆ ค่อยมา ตอนนี้ถ้ามา จะต้องถูก State Quarantine ซึ่งระหว่างที่เดินทางมา ก็มีโอกาสจะติดเชื้อบนเครื่องบินได้อีก เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น ถ้าอยู่ที่ตั้ง อยู่กับที่ ทุกคนใช้วิธีนี้ทั่วโลก ปลอดภัยที่สุด เชื่อว่าทุกเมืองก็มีมาตรการดูแลประชาชนอย่างดี รอให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ค่อยเดินทาง ไม่ต้องเร่งรีบ ชะลอการเดินทางตามนโยบายของท่านนายกฯ ไปก่อน" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ในระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค. รวม 146,372 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมโรค และสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน พบว่า ประชาชนถึง 94% มีวิธีการป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า นอกจากนี้ ประชาชน 90.5% ระบุว่าล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ส่วนการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตรนั้น ยังมีประชาชนเพียง 65% ที่ปฏิบัติตาม
พร้อมกันนี้ ยังได้รับรายงานข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงว่า จากการสำรวจการเดินทางของประชาชนในช่วงวันธรรมดา พบว่ามีการเดินทางลดลงจากสถานการณ์ปกติเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประชาชนลดการเดินทางลง 40-50%
"การเดินทางในวันธรรมดาลดลงได้แค่ 20-30% ยังไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพอใจ ต้องขอความร่วมมือนายจ้าง-ผู้ประกอบการ ขอให้พิจารณาปรับปรุงการทำงาน เพื่อให้พนักงาน ลูกจ้างลดการเดินทาง หรือลดความแออัด หรือเพิ่มระยะห่าง ถ้าท่านยังเปิดสถานประกอบการ ก็เป็นความเสี่ยงที่ท่านต้องจัดการในส่วนนี้ด้วย" โฆษก ศบค.ระบุ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ ได้มอบชุดตรวจหารเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 20,000 ชุดแรกให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบ 2 หมื่นชุดในทุกสัปดาห์จนครบ 1 แสนชุดภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ให้แก่โรงพยาบาล 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ
"เป็นเรื่องน่ายินดีมาก ที่ขณะนี้เราสามารถผลิตน้ำยาตรวจหาเชื้อได้เองแล้ว ราคาตกชุดละ 1,500 บาท ในขณะที่ถ้าเรานำเข้า ราคาจะตกชุดละ 4,500 บาท" นพ.ทวีศิลป์ระบุ