COVID: ผู้ช่วย รมต.เผยออมสิน-ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยกู้ฉุกเฉินสู้ภัยโควิด 15 ล้านคน

ข่าวทั่วไป Sunday April 5, 2020 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน สำหรับช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.10% ผ่อนชำระนาน 24 เดือน ปลอดชำระเงิน 6 เดือนแรก ภายใต้งบประมาณ 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีประชาชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนและหลุดจากเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เข้าใช้บริการราว 15 ล้านคน เนื่องจากขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยากว่า 24 ล้านคน และโควต้าผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาทั้ง 2 ระยะ มีจำนวนราว 9 ล้านคน

ขณะที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้มีความพร้อมให้บริการประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว โดยทั้ง 2 ธนาคารจะเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์วันที่ ‪15 เม.ย.63‬ เป็นต้นไป ธนาคารออมสินปล่อยกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท และจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็ปไซต์ ‪www.gsb.or.th‬ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนกรอกข้อมูลส่วนตัว และหากผ่านจะมีเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติวงเงิน

ส่วน ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาทเช่นกัน และเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE ID ของธนาคารชื่อว่า @baacfamily เท่านั้น หรือสแกนคิวอาร์โค้ด กรอกรายละเอียด และรอนัดหมายจากธนาคารผ่านเอสเอ็มเอส และเริ่มทำสัญญากู้เงินตั้งแต่วันที่ ‪7 พ.ค.63‬ หลังจากนั้นธนาคารจะแจ้งการโอนเงินเข้าบัญชีผ่านเอสเอ็มเอส โดยคุณสมบัติของผู้กู้ คือ อายุ 20 ปี ขึ้นไป มีสัญชาติไทย ไม่ต้องมีหลักประกัน มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถแท็กซี่ มัคคุเทศก์ ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้ และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระคืนรวมกันไม่เกิน 70 ปี และสิ้นสุดโครงการคือวันที่ ‪30 เม.ย.63

นายชาญกฤช กล่าวว่า ขณะนี้มีมิจฉาชีพอาศัยจังหวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนแฝงตัวทักไลน์/เฟสบุ๊ค หลอกถามข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขที่บัญชีเงินฝาก เลขบัตรประชาชน รหัสผ่าน และ รหัสผ่าน OTP อย่าให้ข้อมูลทางด้านการเงินแก่บุคคลอื่นผ่านทางโทรศัพท์และสื่อโซเชียลเด็ดขาดเพราะอาจจะเกิดความเสียหายทางการเงินตามมา เนื่องจากตอนนี้มีโครงการช่วยเหลือต่างๆที่ทางธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ร่วมกันช่วยเหลือเพื่อลดภาระหนี้ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการเยียวยาเงินชดเชย 5,000 บาท สินเชื่อฉุกเฉิน โครงการพักต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 3 เดือน ล่าสุดธนาคารออมสินโดนปลอมเพจเฟซบุ๊ค และไลน์ GSB Society ซึ่งอยากให้ประชาชนสังเกต ไลน์ GSB Society ของจริง จะต้องมีโล่สีเขียว (พื้นเขียวมีดาวห้าแฉกตรงกลาง) แสดงการเป็นแอคเคาท์พรีเมียม ซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัทไลน์(ไทยแลนด์) วางไว้ด้านหน้าตัวอักษรคำว่า GSB หรือ หากเกิดความไม่มั่นใจให้สอบถามไปที่ call center ของแต่ละธนาคารจะดีที่สุด

สำหรับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาขา ตั้งแต่การเปิดบัญชี ไปจนถึงการยื่นเรื่องขอสินเชื่อ รวมถึงการขอพักชำระหนี้ ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทดสอบการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัล โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) ในวงจำกัด ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งใหม่ได้ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยมีบัญชีเงินฝาก ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition)

โดย 8 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง ธ.ก.ส., ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) , ธนาคารออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงค์) , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) , บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ได้เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทาง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ เพจ Facebook ซึ่งครอบคลุมทุกสถาบันการเงิน , LINE@,QR CODE website การเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร การใช้แอพพลิเคชั่น LINE ขอสินเชื่อฉุกเฉิน การกรอกข้อมูลสมัครสินเชื่อ และ การยื่นเรื่องพักชำระหนี้ ผ่านเว็ปไซต์ของธนาคาร นอกจากนี้ยังมี call center ไว้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน ธุรกิจ SMEs สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ