นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 102 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รักษาหาย 62 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วนยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,169 รายใน 66 จังหวัด เสียชีวิตรวม 23 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 674 ราย และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,472 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่มในวันนี้ รายที่ 21 เป็นชายไทยอายุ 40 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ มีอาการไอ
รายที่ 22 เป็นชายชาวสวิตเซอร์แลน์ อายุ 82 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ได้ไปร่วมงานเลี้ยงที่หัวหินและย่านสุขุมวิท เริ่มป่วยมีอาการไข้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.63 และเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 มีไข้ 39.2 องศาเซลเซียส เหนื่อยหอบ ความดันโลหิตสูง มีอาการโรคปอดบวม หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และเมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
รายที่ 23 เป็นชายไทยอายุ 30 ปี อาชีพก่อสร้าง ดื่มสุราเป็นประจำ เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.63 ด้วยอาการไอ ไม่มีเสมหะ เหนื่อยหอบ ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบรุนแรง
ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 102 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 48 ราย มีทั้งสถานบันเทิง 2 ราย พิธีกรรมทางศาสนา 2 ราย และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 44 ราย กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 42 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย สัมผัสกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน 5 ราย อาชีพเสี่ยงในสถานที่แออัด 19 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย และกลุ่มที่สามอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 ราย โดย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวม 66 จังหวัด คงเหลือพื้นที่ปลอดเชื้อที่ยังตรวจไม่พบ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พังงา, พิจิตร, ระนอง, สตูล, สิงห์บุรี และ อ่างทอง โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,011 ราย
ในช่วงตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ถึงวันที่ 4 เม.ย.63 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 20 ราย มีสัญชาติไทยทั้งหมด เป็นชาย 18 ราย และหญิง 2 ราย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58.5 ปี (35-84 ปี) มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน 50% ความดันโลหิตสูง 35% ไตเรื้อรัง 15% ไขมันในเลือดผิดปกติ 15% โดยมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับสนามมวย 5 คน, เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย, อาชีพเสี่ยง เช่น ขับรถแท็กซี่ ร้านอาหาร พนักงานขายของ 5 ราย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีคนไทยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศมากถึง 249 ราย ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศในช่วง 7 วันล่าสุดของกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่
สำหรับความร่วมมือด้านการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้จัดเตรียมเตียงไว้รองรับผู้ป่วยรวม 2,132 เตียง เป็นโรงพยาบาลทุกสังกัด 1,622 เตียง และการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและกีฬา 510 เตียง
ส่วนปัญหาความพร้อมที่จะรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยในส่วนของผู้ที่เดินทางออกไปจากสนามบิน 158 รายได้กลับมารายงานตัวครบแล้ว โดยในต่างจังหวัด 65 คนจะมีการกักตัวที่โรงพยาบาลและโรงแรมใน 27 จังหวัด ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 93 คนจะมีการกักตัวในโรงแรม 2 แห่ง และเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ 3 ราย
สำหรับการดำเนินมาตรการในช่วงเคอร์ฟิวนั้นมีการตั้งจุดตรวจคัดกรองทั่วประเทศ 634 จุด พบผู้กระทำผิดฝ่าฝืน การรวมกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตักเตือน 375 ราย และดำเนินคดี 325 ราย