นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า รัฐบาลมีมาตรการในการแก้ปัญหา 3 อย่าง คือ มาตรการในการป้องกันเชื้อไม่ให้เข้าประเทศซึ่งตอนนี้เข้มขันมาก มาตรการในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เต็มที่ และมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ มาตรการที่ใช้ตอนนี้มี 2 มาตรการคววบคู่กัน มาตรการไหนมีความสำคัญมากกว่ากันขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่นั้นมีจำนวนผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน
ด้านมาตรการสาธารณสุข คือ ทำยังไงก็ได้ให้เจอผู้ป่วยได้โดยเร็ว ค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากๆ แยกผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วย ดำเนินการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้สัมผัส แยกตัวผู้สัมผัส ถ้าผู้สัมผัสมีอาการ การแยกตัวจะเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพสูงมากวิธีหนึ่ง ติดตามผู้สัมผัส ให้ความรู้กับประชาชน ที่สำคัญอีกเรื่องคือการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
มาตรการทางสังคมที่ใช้คือ การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการออกมาในที่สาธารณะ การลดความแออัดของพื้นที่สาธารณะ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นทำงานจากบ้าน เหลื่อมเวลาทำงาน รวมทั้งปิดสถานที่สาธารณะบางอย่างซึ่งบางจังหวัดก็ได้เริ่มทำแล้ว
มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ โดยการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) ได้แก่ การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น การงดกิจกรรมทางสังคม การไม่ไปในสถานที่แออัด การทำงานที่บ้าน การสวมหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน รวมทั้งผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งจากต่างประเทศและกรุงเทพมหานคร ที่ให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน และมาตรการยับยั้งการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งในระยะนี้ก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศต่างๆ เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ในทุกจังหวัด (State/Local Quarantine) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน มีการติดตามอาการทุกวัน หากมีอาการป่วยจะได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการกักตัวที่บ้าน หรือมีผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ร่วมบ้าน เมื่อครบกำหนดทุกคนจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข เน้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนมาโดยตลอด เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่าจะทำให้กลัว เพราะหากประชาชนเกิดความหวาดกลัวมากเกินไปจะรังเกียจผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ตามปกติ แม้ว่าผู้ป่วยรายนั้นผ่านกระบวนการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งข้อมูลวิชาการบ่งชี้ว่าการรักษาในช่วงเวลา 14 วันนั้นเพียงพอที่จะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น นอกจากนี้ ความหวาดกลัวของผู้ป่วยจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมปิดบังข้อมูลต่อแพทย์พยาบาล ยิ่งทำให้รักษาโรคไม่ถูกต้อง และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเพิ่มได้อีก
สำหรับผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดและกักตัวอยู่ที่บ้าน ขอให้เคร่งครัดการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ร่วมบ้าน ไม่ออกจากที่พักจนครบ 14 วัน เว้นระยะห่างในครอบครัว โดยแยกรับประทานอาหาร ภาชนะ และของใช้ส่วนตัว ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป น้ำยาฟอกขาว 1 % เช็ดพื้นผิวต่าง ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% สำหรับเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ซักด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา
สำหรับสถานการณ์วันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้าน 119 ราย ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ 51 ราย ถือเป็นวันแรกๆที่มีผู้ป่วยกลับบ้านมากกว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่
"ตอนนี้ถ้าดูตามสถานการณ์เหมือนจะโชว์แนวโน้มลดลง แต่มันไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะวันก่อน ผู้ป่วยรายใหม่ 88 วานนี้ 102 มาวันนี้ 51"นพ.ธนรักษ์ กล่าว
ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงคาดการณ์แนวโน้มผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เม.ย. 2563 ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเดือนนี้เป็นเดือนสำคัญของประเทศในการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing หรือการลดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่จำเป็นทั้งหมดลงไป เพื่อจะทำให้สถานการณ์ของการสะสม หรือการเกิดผู้ป่วยใหม่ลดน้อยลงให้มากที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หากไม่มีมาตรการป้องกัน จะมีผู้ป่วยสะสมถึง 25,225 ราย ถ้าใช้มาตรการ Social Distancing 50% จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และ ถ้าใช้มาตรการ Social Distancing 80% จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย
ทั้งนี้ หากจำแนกผู้ป่วยตามอายุ 70% อยู่ระหว่าง 20-59 ปี เป็นช่วงอายุของกลุ่มลูกหลานที่มีโอกาสกลับไปบ้านแล้วนำเชื้อไปแพร่ผู้สูงอายุในครอบครัวได้ และขอให้ผู้สูงอายุงดออกจากบ้าน เพราะเป็นกลุ่มอายุสำคัญ เน้นย้ำเรื่องการล้างมือด้วยสบู่ แยกการกินใช้ และเว้นระยะห่าง
"ถ้าท่านยังเดินทางยังไปไหนมาไหน ทุกครั้งที่กลับเข้าบ้านจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุได้...ฝากถึงผู้ที่กำลังจะเดินทางกลับจากต่างประเทศ แยกไปอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดเตรียม (State Quarantine) เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนที่บ้าน"
ขณะที่นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะสมกับบุคคล รวมถึงการปฏิบัติตนในการกำจัดหน้ากากอนามัยทั้งในประชาชนและพนักงานเก็บขยะ เนื่องจากประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องขยะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นเรื่องที่จะต้องอยู่กับคนในประเทศไทยไปอีกนาน และการป้องกันคือการสวมหน้ากากอนามัยที่จะต้องมีความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มบุคคล แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไป ขณะนี้ประเทศไทยเหมือนจะเป็นต้นแบบในการใช้หน้ากากอนามัยชนิดผ้า โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลกมีการปรับคำแนะนำให้ผู้ที่ไม่ป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัยชนิดผ้า
จากข้อมูลสถิติพบว่าประชาชนคนไทยใช้หน้ากากชนิดผ้าสูง 94% ไปจนถึงมาตรการการล้างมือให้สะอาด ส่วนหน้ากากชนิดผ้าที่ใช้แล้วนั้น วิธีการดูแลรักษาคือการซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอกให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้งสนิท และในการถอดหน้ากากควรจับที่สายคล้องหู ไม่ควรจับด้านหน้าของหน้ากาก ส่วนหากผู้ที่ไม่ได้มีอาการป่วยแต่ใช้หน้ากากอยามัยทางการแพทย์ ดังนั้นการทิ้งควรนำใส่ถุงและติดป้ายกำกับว่าเป็นขยะจากหน้ากากอนามัย
กลุ่มที่มีความเสี่ยง การแยกกักตัวทั้งในพื้นที่รัฐบาลจัดให้ (State Quarantine) และการแยกกักตนเองที่บ้าน (Home Quarantine) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เมื่อถึงเวลาที่จะทิ้งแล้วควรเก็บใส่ถุงให้มิดชิด เติมน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ในถุง และนำใส่ถุงขยะอีก 1 ชั้น พร้อมปิดปากถุงให้สนิท เขียนกำกับว่าเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว เนื่องจากระบบการกำจัดขยะติดเชื้อในระบบสาธารณสุขทั่วไปยังไม่ดีนัก จึงต้องเน้นย้ำให้แยกขยะก่อนทิ้งให้ชัดเจน
ส่วนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่ใช้หน้ากาก N95 ที่ไม่เหมาะกับประชาชนทั่วไป โดยขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ในประเทศไทยกำลังศึกษาการใช้แสง UV-C ในการฆ่าเชื้อโควิด-19 เพื่อนำหน้ากาก N95 กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง
"ขอย้ำไปถึงพนักงานเก็บขยะ ควรปฏิบัติตนดังนี้ 1.สวมหน้ากากอนามัยป้องกันขณะทำงาน 2.สวมถุงมือยาง 3.ใช้ที่คีบอย่าใช้มือจับโดยตรง 4.หลังจากทำงานเสร็จ ให้ล้างมือทุกครั้ง และ 5.หากเลิกงานและกลับเข้าบ้าน ต้องทำการชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนพบปะกับคนในครอบครัว"นพ.บัญชา กล่าว