นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 38 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,258 ราย จาก 66 จังหวัด ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 27 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 824 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 54 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติไปสังสรรค์หลายที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.รักษาตัวที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 14 มี.ค.มีอาการเหนื่อยมากขึ้นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และได้มีการส่งตัวอย่างการตรวจเชื้อพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวานนี้ด้วยอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
ส่วนผู้ป่วยใหม่ 38 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 17 ราย ส่วนใหญ่ เป็นกรุงเทพฯ 11 ราย มีทั้งติดจากในบ้านที่ทำงานและกลุ่มเพื่อน
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 16 ราย แบ่งเป็น คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 ราย ทำอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ เป็นต้น 7 ราย โดยเป็นผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ ในกทม. 2 ราย ชลบุรี 1 ราย กระบี่ 1 ราย และเป็นชาวต่างชาติทำอาชีพเสี่ยงที่ภูเก็ต 3 ราย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3 ราย
กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 5 ราย
นพ. ทวีศิลป์ กล่าวว่าตัวเลข ผู้ป่วยใหม่ 38 รายในวันนี้ มาจาก กทม. 25 ราย ชลบุรี 4 ราย ภูเก็ต 3 ราย กระบี่ 1 รายชุมพร 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย นนทบุรี 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย
"ตัวเลข 38 ทำให้หัวใจพองโตแต่อย่างไรก็ตามแต่ในเหตุในผลต่างๆที่เราทำกันมาเหล่านี้คงจะต้องมาหาดูกันว่ามันเริ่มมาจากอะไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีมาจะเห็นว่ามีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมาตัวเลขก็ยังทรงตัว แต่หลังจากประกาศเคอร์ฟิววันที่ 3 เมษายนเป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ประมาณ 5 วัน ซึ่งเป็นช่วงระยะฟักตัว ตัวเลขมีแนวโน้มที่ดี นี่คือผลการทำงานจากพวกเราทุกคนทำให้การแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นลดน้อยลงชัดเจน"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ในจำนวนผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย ใน 66 จังหวัด จังหวัดที่รับการรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 1,201 ราย ภูเก็ต 138 ราย นนทบุรี 134 ราย สมุทรปราการ 99 ราย ชลบุรี 70 ราย ยะลา 54 ราย ปัตตานี 46 ราย เชียงใหม่ 37 ราย สงขลา 37 ราย ปทุมธานี 26 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 79 ราย
สำหรับจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อมี 11 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี และ อ่างทอง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการเปรียบเทียบ กทม.และต่างจังหวัดก็มีแนวโน้มลดลง แต่ยังต้องช่วยกัน หลายคนถามว่าประกาศเคอร์ฟิวแล้วจะต้องเพิ่มมาตรการไหม ซึ่งจากกราฟที่ออกมาก็หมายความว่าให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยน้อยลง เชื่อว่าผู้บริหารคงไม่ต้องใช้มาตรการเข้มไปมากกว่านี้ ดังนั้น ขอให้ช่วยกันกดตัวเลขนี้ให้ลงไปเรื่อยๆ เราจะเห็นโอกาสที่เรามีชีวิตประจำวันปกติได้เหมือนเดิม
ส่วนปัจจัยเสี่ยงพบว่า กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้เริ่มลดลง โดยสูงสุดอยู่ที่สัปดาห์ที่ผ่านมา 317 ราย ส่วนสัปดาห์นี้ 3 วันมีประมาณ 83 ราย เหลืออีก 4 วันถ้าเราพยายามกดตัวเลขลงได้ก็คิดว่าไม่น่าจะเกิน 300 ราย กลุ่มสนามมวยลดลงเกือบหมดในสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้ยังไม่มีรายงาน ส่วนคนไทยจากต่างประเทศ 2 วันในสัปดาห์นี้มา 17 รายเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงเพราะเพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ถ้าเราช่วยกันน่าจะลดลงได้
หากเทียบกับผู้ป่วยสะสมรวมทั้งหมด อันดับ 1 คือ การสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า อันดับ 2 คือ กลุ่มสนามมวย อันดับ 3 คือ คนไทยมาจากต่างประเทศ แต่ช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุดจะพบว่ากลุ่มคนไทยมาจากต่างประเทศขึ้นมาสูงเป็นอันดับ 2 ทำให้ต้องประกาศเรื่องเที่ยวบินที่เข้ามายังประเทศไทยทำให้กระทบต่อคนเดินทาง ขอให้ทราบว่าเราใช้ตัวเลขในการบริหารจัดการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จัดการตามสถานการณ์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงผลการดำเนินการตาม พรก.ฉุกเฉินประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.เวลา 22.00 น.-04.00 น. ปรากฎว่ามีผู้ฝ่าฝืนมาตรการเพิ่มขึ้นเป็น 1,293 ราย แบ่งเป็น ออกนอกเคหสถาน 1,217 ราย รวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม 176 ราย ได้รับการตักเตือน 246 ราย และถูกดำเนินคดี 1,047 ราย ซึ่งหากผู้ฝ่าฝืนยังเพิ่มขึ้นก็อาจจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น
นพ.ทวีศิลป์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเหลือ 38 รายในวันนี้เป็นเพราะทำการตรวจเชื้อลดลง หรือเพราะประสิทธิภาพการตรวจเชื้อลดลงหรือไม่ โดยกล่าวว่าเราจะต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ตัวเลขสะสมจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจ COVID-19 RT-PCR ตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงวันที่ 4 เม.ย.มีจำนวนกว่า 71,860 ตัวอย่าง ซึ่งที่ประชุมก็ยังไม่พอใจ ต้องหาหนทางเพิ่ม
ขณะนี้ความสามารถในการตรวจของทั้งประเทศไทย กทม.และปริมณฑลได้ประมาณวันละ 1 หมื่นราย ต่างจังหวัดรวมกันได้อีกวัน 1 หมื่นราย แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจต้องใช้ทั้งน้ำยา เจ้าหน้าที่ และมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง แต่เราจะพยายามเพิ่มการตรวจให้มากขึ้นๆ ให้เหมือนกับประเทศที่รายงานผลการตรวจวันละเป็นแสนราย
"เราจะทำอย่างนั้นให้ได้ และยิ่งเราตรวจเยอะก็จะเจอเยอะ ซึ่งเราไม่กลัวว่าจะเจอเยอะ เพราะอีกด้านจะมีการเตรียมเตียงสำหรับหลายระดับ จากระดับเบาๆ จนถึงระดับอยู่ใน ICU"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว