นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรคและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ แต่มีความเสี่ยงสูง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฝ้าระวังใน 4 กรณี กรณีที่ 1 จุดที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในช่วงต้นเน้นว่ามาจากประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น หลังจากนั้นก็พัฒนามาตามลำดับ จนล่าสุด ปัจจุบันเราพบมีการายงานผู้ป่วยโควิด-19 ใน 209 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีการปรับนิยามที่หากมีผู้ป่วยไม่ว่าจะมีไข้ที่กำหนดไว้ 37.3 องศาเซลเซียส และมีอาการระบบทางเดินหายใจกับประวัติเสี่ยงไม่ว่าจะเดินทางไป หรือ เดินทางมา มีการปรับขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ
กรณีที่ 2 การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หรือผู้ป่วยปอดอักเสบก็จะขยายให้กำหนดร่วมกับมีประวัติเสี่ยงมีประวัติเดินทางไปยังหรือมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ หรือ สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กรณีถัดมาคือ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบรักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นจนกระทั่งเสียชีวิต ตลอดจนถ่ายภาพรังสีปอดเข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำหรับกรณีที่ 3 ซึ่งให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงนี้ คือ การเฝ้าระวังในบุคลกรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เกณฑ์ใหม่หากแพทย์ผู้ตรวจมีความสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่วมกับมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วยนั่นหมายความว่าบุคลากรด้านการแพทย์สามารถได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการและได้รับการสอบสวนทุกราย
กรณที่ 4 อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าหน้าฝน สิ่งที่พบคือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเพราะฉะนั้นหากมีผู้ป่วยเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และมีผลตรวจไม่ว่าจะ Rapid Test หรือ PCR ที่ให้ผลเป็นลบจะต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ป่วยมากกว่า 3 คน ต้องแยกออกมาตรวจแล็บหาโควิด-19 ส่วนประชาชนทั่วไป ถ้าพบผู้ป่วย 5 รายขึ้นไปและมีผลตรวจแล็บเป็นลบต้องสอบสวนโรคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนที่สัมผัสซึ่งกลุ่มนี้จะไม่มีอาการนั้น ซึ่งกระบวนการสอบสวนโรคจะจำแนกทันทีเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันและทำการตรวจหากพบว่ามีไข้ก็จะต้องเข้าเกณฑ์จัดการทันที แต่หากไม่มีไข้จะต้องเฝ้าระวังที่บ้านไม่น้อยกว่า 14 วัน รวมทั้งสมาชิกในครอบครัว คนที่เดินทางร่วมยานพาหนะเดียวกันทั้งทางเครื่องบิน ทั้งแถวด้านหน้า ด้านหลัง ด้างข้าง หรือยานพาหนะที่เป็นรถ ซึ่งครอบคลุมคนขับ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องให้บริการ
ทั้งนี้ หากมีผู้ป่วยอยู่ในสำนักงาน อยู่ในออฟฟิศใดนั่นหมายความว่าคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานหล่านั้นในขณะที่ผู้ป่วยกำลังป่วยถือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดและจะต้องได้รับการสอบสวนและจะต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งขอยืนยันว่ากระบวนการเหล่านี้โดยไม่คิดมูลค่าทุกราย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการขยายการคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วทั้งหมด 71,860 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้มีการขยายเกณฑ์การตรวจคัดกรองเพิ่ม ดังนั้นในส่วนของห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Real Time PCR ก็มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้มีโครงการขยายแล็บไปทุกจังหวัด เป้าหมายคือ 110 แห่ง คาดว่าภายในสิ้นเดือนเม.ย.ก็จะครบ จากปัจจุบันในกรุงเทพมีกว่า 40 แห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ส่วนต่างจังหวัดมีประมาณ 40 กว่าแห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่างเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เบื้องต้น รพ.ศูนย์ในจังหวัดใหญ่มีครบแล้ว ส่วนจังหวัดเล็กบางจังหวัดไม่มีก็จะส่งตรวจที่จังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นจังหวัดเล็กที่มีปัญหาการคมนาคมไม่สะดวกจะต้องไปสนับสนุน เช่น แม่ฮ่องสอน และ 3 จังหวัดภาคใต้
ส่วนน้ำยาตรวจนั้น กรมวิทย์ฯ ผลิตได้เอง ที่ผ่านมาก็ใช้ตัวที่ผลิตเองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตเอง ไม่ได้มีการนำเข้าแต่อย่างใด โดยในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ จะมีเพิ่ม 100,000 ชุด และถ้าการระบาดยังมีมากก็จะผลิต 1,000,000 ชุดใน 6 เดือน ส่วนเอกชนจะเป็นการนำเข้า ขณะเดียวกันก็ปรับระบบการรายงานผลผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค (PUI) เป็นแบบออนไลน์ภายใน 24 ชั่วโมง และเชื่อว่าถ้าเป็นช่วงกำหนดดีๆ ไม่ถึง 12 ชั่วโมงก็น่าจะรายงานผลได้ ซึ่งจะทำให้การควบคุมการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น