ครม.อนุมัติงบ 2.8 พันลบ. บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 7, 2020 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย กรอบวงเงิน 2,875 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามแผนงานโครงการ 5 ปี (ปี 63-67)

"แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี" น.ส.รัชดา กล่าว

โครงการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก ด้วยการตัดยอดน้ำบางส่วนจากแม่น้ำสายหลักเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับปริมาณน้ำได้ ซึ่งเริ่มจากจุดรับน้ำบริเวณคลองหกบาท ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ไปยังจุดระบายน้ำลงแม่น้ำน่านบริเวณปลายคลองยม-น่าน ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมชลประทานจะดำเนินการปรับปรุงคลองหกบาทจากเดิมที่สามารถรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มเป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองลดลงเท่ากับความสามารถที่รับได้ของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในสภาวะปกติ ซึ่งปริมาณน้ำจากคลองหกบาทจะถูกระบายไปที่คลองยม-น่านที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าที่สามารถรับน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งในระหว่างนี้กรมชลประทานจะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะเป็นโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุม 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน และสามารถกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,300 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ