นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 111 ราย โดย 69 ราย เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังอยู่เดิม กว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ให้ความสำคัญและออกค้นหาเชิงรุก (Active case finding) อย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการระบาด และมีกลุ่มที่น่าจับตามองคือ กลุ่มคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้ม ป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ ล่าสุดมีคนไทยกลับจากอินโดนีเซียตรวจพบเชื้อ 42 ราย จากผู้ป่วยที่มีอาการ 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษา ส่วนที่เหลือขณะนี้อยู่ที่ State Quarantine ทั้งหมด ไม่มีใครได้กลับบ้าน ขอให้มั่นใจว่าทั้งหมดจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
นับจากวันนี้เป็นต้นไป ระบบข้อมูลของประเทศจะแยกเป็น 2 กลุ่มให้ชัดว่า กลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ หากผู้ใดมีอาการไข้มีโรคมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจและตรวจว่าพบเชื้อคนกลุ่มนี้จะถูกแยกออกไปถูกแยกไปกักกันในโรงพยาบาลที่รัฐกำหนดเพื่อดูแลรักษาต่อไป ถ้าหากมาตรการในเรื่องของการลดเชื้อลดความเสี่ยงเข้าประเทศดำเนินการได้อย่างจริงจัง จำนวนของกลุ่มนี้จะค่อยๆลดลงจนกระทั่งเป็นศูนย์
นพ.สุวรรณชัย ยืนยันว่า ในส่วนของสถานที่ที่รัฐจัดไว้สำหรับกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังมีความสามารถรองรับเพียงพอ โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 1,883 ห้อง แบ่งเป็นสถานที่หน่วยงานราชการจัดให้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนการบิน กำแพงแสน และอาคารรับรองที่สัตหีบ รวม 136 ห้อง มีผู้เข้าพักแล้ว 358 คน ในส่วนของภาคเอกชน มีห้องรับ 1,747 ห้อง มีผู้เข้ากักตัวปัจจุบัน 307 คน
"นั่นหมายความว่าเราจะมีจำนวนห้องมากกว่า 1,400 กว่าห้องที่จะรองรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศ ที่จะต้องถูกกักตัว 14 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาดไปสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นเครื่องยืนยันว่ามาตรการในเรื่องของการลดเชื้อลดการแพร่ระบาดที่มาจากต่างประเทศ"นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำหรับอีกส่วนหนึ่ง จะเป็นระบบเฝ้าระวังและระบบคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยที่อยู่ในสถานพยาบาลและชุมชนซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ในส่วนนี้ดีขึ้นตามลำดับ โดยจะพบว่าในส่วนของกรุงเทพมหานครซึ่งแต่เดิม มีผู้ป่วยจำนวนมากมีการลดลงตามลำดับ ในส่วนของภูมิภาคเอง ที่มีผู้ป่วยรายแรกที่รายงานซึ่งก็จะสัมพันธ์กับ 2-3 เหตุการณ์ที่สำคัญคือกรณีที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของกรณีสถานบันเทิง คือ ผับ การระบาดของสถานบันเทิงที่เป็นสนามมวย ทั้งสองกรณีเกิดที่กรุงเทพฯและมีผู้สัมผัสกระจายออกไปยังภูมิภาคและเกิดการป่วยและเกิดการแพร่ระบาด สถานการณ์พวกนี้ดีขึ้นตามลำดับ
"มาตรการที่จะต้องเข้มข้นในขณะนี้คือ จะขยายการตรวจและการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเชิงรุก มุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยกรมควบคุมโรคจะชี้เป้าหมายให้กับพื้นที่เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ และสนับสนุนมาตรการจำกัดการเข้าออกในบางพื้นที่อย่างเคร่งครัด" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการระบาดตั้งแต่ผู้ป่วยรายแรกในประเทศจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่พบในปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลทำมาได้ผลในการควบคุมในระดับชุมชน สถานที่ชุมนุมชน แต่ยังมีการแพร่เชื้อในกลุ่มผู้ใกล้ชิด ดังนั้นการทำ Social Distancing จึงต้องเข้มข้น ทั้งในบ้าน และที่ทำงาน หรือในที่ที่มีผู้คนไปรวมตัวกัน อย่างไรก็ตาม การที่จะควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ทุกคน
ส่วนจังหวัดภูเก็ตเริ่มพบการระบาดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 158 ราย ร้อยละ 84 อยู่ในวัยทำงาน เป็นคนไทย 119 ราย ต่างชาติ 39 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงหลักที่พบ ได้แก่ อาชีพที่มีการติดต่อกับนักท่องเที่ยวหรือคนจำนวนมาก และติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า มีชาวต่างชาติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จังหวัดได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิง ร้านนวดบริเวณ ขยายทั้งจังหวัดและมีการปิดช่องทางเข้าออกจังหวัดแต่ ยังพบมีผู้ป่วย จากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติมในชุมชน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตามอาการ และกักกันให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลได้พิจารณามอบงบกลางเพิ่มอีก 3,260 ล้านบาท รวมเป็น 4,280 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณตรงนี้ใช้สำหรับ 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง อีกส่วนหนึ่งใช้ในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจกรรมตรวจคัดกรองทั้ง 2 อย่างเป็นสิทธิประโยชน์ที่มีให้สำหรับประชาชนคนไทย
ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ ได้รับความเสียหายจากกรณีโรคโควิด-19 ทาง สปสช. มีประกาศให้จ่ายเงินชดเชยให้ใน 3 กรณี ได้แก่ กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการรักษาผู้ป่วยโควิดจะมีคณะกรรมการพิจารณาสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
กรณีที่ 2 กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต วงเงินช่วยเหลือจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000-480,000 บาท
และกรณีสุดท้าย หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตก็จะมีเงินช่วยเหลือในช่วง 480,000 - 800,000 บาท