นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือแนวทางการลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดระบบการรักษาผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดการแพร่และรับเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยที่สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสจะป่วยรุนแรงหากได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการลดการแพร่กระจายของเชื้อในสถานพยาบาลต่างๆ
"เรามีผู้ปวยที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาล แต่ทำอย่างไรจึงจะแยกผู้ป่วยโควิด ออกจากผู้ป่วยทั่วไปได้...เราได้ออกคู่มือแนวทางลดความแออัดในโรงพยาบาล สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลทั่วประเทศ โหลดได้ทางเว็บไซต์ www.dms.moph.go.th เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง, ผู้ป่วยระบบประสาท, หัวใจ-หลอดเลือด, เบาหวาน และความดันสูง โดยมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้" นพ.สมศักดิ์ระบุ
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อาการดี จะใช้แนวทางการจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ หรือให้ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือการเลื่อนนัดออกไปนานขึ้น รวมทั้งการให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ด้วย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาด้วยตัวเองในสถานพยาบาล ส่วนผู้ป่วยที่คุมอาการได้ไม่ดีนัก จะจัดบริการเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ให้คุยกับแพทย์ หรือนัดให้มาตรวจที่สถานพยาบาลในเวลาที่ไม่เร่งด่วน
"ขอความร่วมมือประชาชน ช่วยให้ข้อมูลครบถ้วนถูกต้องกับหมอ และพยาบาล เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว บางกรณีไม่บอกข้อมูลทั้งหมด พอสุดท้ายท่านเป็นโควิด ก็จะส่งผลเสียต่อตัวท่านเอง และหมอด้วย นี่จะเป็นการช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่หมอ และท่านเองจะได้รับการบริการที่เร็วขึ้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้มีการปรับปรุงล่าสุด คือ ผู้ป่วยทุกรายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2-7 วันแล้วแต่อาการ จากนั้นหากอาการดีขึ้นจะให้ย้ายไปพักที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือ Hospitel ที่มีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจะต้องอยู่สังเกตอาการต่อให้ครบ 14 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ
นอกจากนี้ ได้ปรับแนวทางการให้ยาแก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยปัจจุบันถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการจะไม่ให้ยา แต่ถ้ามีอาการเล็กน้อยจะให้ยาต้านมาลาเรียกับยาต้านไวรัสเอดส์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น ปอดบวม ทุกรายไม่ว่ามากน้อยจะให้ยาต้านมาลาเรีย ยาต้านไวรัสเอดส์ และยาฟลาวิพิลาเวียร์ทุกราย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมให้ได้มากขึ้น และทำให้การรักษาผู้ป่วยได้ผลดีขึ้น
อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ของการที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังจากหายป่วยแล้วว่า ในรายงานทางการแพทย์ของจีนและญี่ปุ่น พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำ ประเทศละ 1 คนซึ่งในรายของประเทศไทยที่มีข่าวว่าผู้ป่วยจากชัยภูมิมีการติดเชื้อโควิดรอบสองหลังจากที่หายดีแล้วนั้น ขณะนี้ผู้ป่วยคนดังกล่าวได้กลับเข้ามารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีไข้ ผลเอ็กซเรย์ปอดปกติดี แต่ตรวจเจอเชื้อโควิด ซึ่งแนวทางการวินิจฉัยของแพทย์เชื่อว่าจะไม่ใช่การติดเชื้อซ้ำ เพราะจากผลการตรวจเลือดพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น บ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ดังนั้นจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากการป่วยของโรคอื่น แต่การที่ตรวจพบเชื้อโควิด คาดว่าจะมาจากซากของเชื้อไวรัสที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานว่าซากเชื้อไวรัสมีโอกาสอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานถึง 30 วัน แต่ไม่สามารถเพาะเชื้อได้
"ซาก หมายถึงตัวเชื้อที่ไม่มีชีวิตแล้ว เพาะเชื้อไม่ขึ้น และไม่สามารถจะแพร่เชื้อได้ แต่กรมฯ จะทดลองแยกเชื้อจากผู้ป่วยที่หายดีแล้ว ว่าจะสามารถเพาะเชื้อขึ้นหรือไม่...เชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ ไม่ใช่การติดเชื้อซ้ำใหม่ แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน เราก็ให้ผู้ป่วยแยกอยูในหวอดดูแลผู้ป่วยโควิด ส่วนหมอ ก็ต้องใส่เครื่องป้องกัน" นพ.สมศักดิ์ระบุ
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากที่สุด และมีกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภูเก็ตกว่าร้อยคนต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการให้แต่ละสถานพยาบาลจัดเตรียมแผนฉุกเฉินไว้หากเกิดกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 30-50% ซึ่งสามารถขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลอื่นที่ใกล้เคียงได้ แนวทางเหล่านี้อยู่ในแผนประคองกิจการอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการให้บริการประชาชนในภูเก็ต
"เราได้ให้เตรียมแผนว่าถ้าบุคลากร 30-50% ทำงานไม่ได้ จะมีแผนปฏิบัติอย่างไร เรื่องนี้อยู่ในแผนฉุกเฉินของทุกหน่วยงานอยู่แล้ว ต้องหยิบขึ้นมาใช้ อาจจะขอความช่วยเหลือจากจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในแผนประคองกิจการอยู่แล้ว การหายไปของกำลังพลในโรงพยาบาลคงมีผลกระทบระยะสั้น ซึ่งการขอกำลังจากพื้นที่ใกล้เคียงน่าจะทำได้ไม่ยาก" นพ.ธนรักษ์ระบุ
ด้านนพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) นั้น การทำให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อสม.ที่มีอยู่ 1.4 ล้านคนทั่วประเทศก็มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้มาตรการนี้บรรลุเป้าหมาย และรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้
สำหรับบทบาทสำคัญ 3 ด้านของ อสม. คือ 1. การให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่อง Social distancing และการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชน ซึ่งได้เริ่มปูพรมเคาะประตูบ้านไปแล้วกว่า 9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ 2.การให้ อสม.มีส่วนร่วมในการสร้างมาตรฐาน Social Distancing ภายในสังคมและชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น งานศพ หรืองานบุญต่างๆ โดยเป็นการให้คำแนะนำและช่วยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และ 3.ให้ อสม.เป็นต้นแบบหรือเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการปฏิบัติตัว ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19