นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหารือถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเร็วที่สุด รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยาวนานถึง 18 เดือน
"เวลานี้เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ไปให้ได้ ไม่เพียงแค่หาแนวทางควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในมิติเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวด้วย" นายกิติพงค์ กล่าว
โดยการหารือครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา ได้แก่ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายนักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา สอวช., นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) , นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นางสีลาภรณ์ บัวสาย คณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน บพท., นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ มาร่วมวิเคราะห์และให้ความเห็นต่อสถานการณ์เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูประเทศ
ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าวว่า หัวข้อในหารือในครั้งนี้ได้ยกมิติด้านสาธารณสุขถึงปัจจัยที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเตรียมความสามารถในการรองรับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำในอนาคต มิติการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้มีการหารือและวิเคราะห์มาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือในเบื้องต้นว่าเพียงพอ และดูแลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ และจะสามารถช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจให้หลุดพ้นช่วงวิกฤต ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อ Take-off เมื่อพ้นช่วงวิกฤตอย่างไร
นอกจากนี้ ในส่วนของมิติด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่ต้องมีระบบดิจิทัลรองรับ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดช่วงอายุ เข้าถึงทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ราคาจับต้องได้ แต่ต้องมีคุณภาพสูง มิติการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจและสังคมสู่ ความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal คือ หาแนวทางรับมือกับเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในสังคม สิ่งเหล่านี้ได้มีการหารือและวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการฟื้นฟู ที่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนช่วยได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
โดยที่ประชุมได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนในหลายประเด็นกันอย่างกว้างขวาง ที่น่าสนใจคือ เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะยาวนานถึง 18 เดือน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อมีการเปิดประเทศคือหลังวันที่ 30 เมษายน จะมีมาตรการอะไรมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดอีกระลอก ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า องค์ความรู้ในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) จะมีส่วนช่วยได้มาก เพราะทุกมาตรการต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ เช่น ด้านขนส่งสาธารณะ ที่มีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากจะมีมาตรการอย่างไร และภาคขนส่งสาธารณะใดจะเปิดบริการได้ก่อน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการควบคุมยานพาหนะแต่ละประเภทโดยสารอย่างไรจึงจะปลอดภัย เช่น รถตู้โดยสารสามารถรับคนได้เพียง 1 ใน 3 เพื่อลดความหนาแน่น ส่วนแท๊กซี่ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทดีกว่าปิดหน้าต่าง หรือไม่อย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ภาคการอุดมศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยพิสูจน์เพื่อกำหนดเป็นมาตรการ
สำหรับด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการพิจารณาถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมไปสู่โครงสร้างแบบใหม่ โดยต้องทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผ่านการหาภาคส่วนที่มีศักยภาพมาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ภาคส่วนที่มีศักยภาพที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้มีทั้งภาคการเกษตร-ปศุสัตว์ อาหาร ที่ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ภาคส่วนการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และสามารถกระจายการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงเรื่องการสร้างงานในชนบทรองรับคนกลับภูมิลำเนา และการสร้างงานเพื่ออนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความต้องการกำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อนำมาจัดทำ Manpower Planning ของประเทศ เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการ
ที่ประชุม ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นในด้านการศึกษา โดยมองว่า ทุกมหาวิทยาลัยปรับตัวได้ดีกับการเรียนออนไลน์ และรัฐบาลก็ช่วยสนับสนุนเครื่องมือและโครงสร้างเครือข่ายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ในส่วนหลักสูตรที่ต้องมีการเข้าแลป ต้องหาแนวทางการบริหารจัดการดูว่าจะมีแนวทางอย่างไร เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์ของเด็กประถมที่ต้องหาสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัยและผู้ปกครองเองก็ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ควบคู่ไปพร้อมกับเด็กด้วย
"ความเห็นจากการหารือครั้งนี้ สอวช.จะรวบรวมเพื่อนำไปกำหนดเป็นมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 แล้วมานำกลับมาเสนอที่ประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาอีกครั้งในโอกาสต่อไป" นายกิติพงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าวว่า สอวช.ยังได้ทำการศึกษาผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ ตามแนวคิดของ McKinsy & Company ว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กับระยะเวลาและความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามมาตรการทางด้านเศรษฐกิจของภาครัฐในการป้องกันวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจหลังพ้นระยะเวลาการระบาด ทั้งนี้ ภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยคาดหวังในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การที่ประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และประเทศมีมาตรการเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนโยบายที่ออกมาต้องสามารถปกป้องโครงสร้างทางเศรษฐกิจไว้ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการระบาดสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนการระบาดได้ไว ซึ่งขณะนี้จากการประเมินประเทศไทยเผชิญอยู่กับการที่การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ และด้านเศรษฐกิจสามารถจัดการได้บางส่วนส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว และกลับสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป