COVID-19ไทยเตรียมรับรองในปฏิญญาพิเศษ 2 ฉบับ หนุนตั้งกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19

ข่าวทั่วไป Sunday April 12, 2020 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ในวันที่ 14 เม.ย.63 โดยจะมีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ในการป้องกันและกำจัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่คุกคามชีวิตของผู้คน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การประชุมดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 25 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอาเซียน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2563 เป็นประธาน และมีรมว.ต่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมด้วย

โดยที่ประชุมได้ยืนยันเจตจำนงร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาค และได้หารือเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางความร่วมมือ เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารสาธารณะที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที และการต่อต้านข่าวปลอม การรักษาบูรณาการทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและภาคีภายนอกของอาเซียน

ในการนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนว่าด้วยภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) ที่เสนอโดยไทย ซึ่งจะใช้จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นยาและวัคซีน

(2) การให้ความช่วยเหลือต่อพลเมืองของอาเซียน ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศที่สาม

(3) การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ