COVID-19ครม.ทบทวนมติผ่อนปรนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถึง 30 พ.ย.เหตุโควิดยังไม่คลี่คลาย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 15, 2020 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 ซึ่งเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิ.ย.63 เป็นวันที่ 30 พ.ย.63

โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานไปดำเนินการแก้ไขเงื่อนเวลาในร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.คณะที่ 4 แล้ว จากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.63 เป็นวันที่ 30 พ.ย.63 ต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันไม่คลี่คลายลงหรือเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว หรือหากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายลงแล้ว แต่ประชาชนยังต้องเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน (Social Distancing) เพื่อป้องกันการกลับมาติดโรคจึงไม่ควรที่จะเร่งรีบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62

พร้อมทั้งให้ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.63 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Overstay) รวมถึงการยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่ง รมว.มหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 27 พ.ย.58

นอกจากนี้ให้ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย.63 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อน โดยให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ส่วนราชการประกาศกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และที่ประกาศเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เช่น การโดยสารยานพาหนะต้องเป็นไปตามจำนวนที่ทางราชการกำหนด การจำกัดจำนวนและปรับระยะเวลาการปฏิบัติงาน การเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางละอองฝอย หรือการให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ