รัฐบาลเดินหน้าโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำจังหวัดพังงา แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว

ข่าวทั่วไป Wednesday April 15, 2020 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่บางส่วนเป็นการชั่วคราว (เมื่อสร้างเสร็จให้คืนพื้นที่ให้กับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้ง) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2564-2567) โดยใช้งบประมาณปี 2564 จำนวน 659 ล้านบาท

โครงการนี้เป็นชลประทานขนาดกลาง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,250 ไร่ ประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน อ่างเก็บน้ำ อาคารที่ทำการ บ้านพัก และพื้นที่ตามแผนพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเขื่อนหัวงานเป็นหินถมแกนดินเหนียวสูง 40 เมตร ยาว 350 เมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 14.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับสูงสุด +81.500 เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือ 1)ส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในอำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ครอบคลุมประชากรจำนวน 52,470 คน 2)ส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริเวณเขาหลักในอำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 4,533 คน และ3)ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน จำนวน 1,200 ไร่ ในตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และพื้นที่ฐานทัพเรือพังงาและท่าเรือน้ำลึกบ้านทับละมุ

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ทั้งหมด กรมชลประทานจึงได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ โดยได้มีหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เนื้อ 1,250 ไร่ เป็นการชั่วคราวด้วยแล้ว โดยให้กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมชลประทานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) กรมชลประทานจะต้องควบคุมไม่ให้มีผู้ประกอบการแพและบุคคลใดๆ เข้าไปครอบครองพื้นที่น้ำและพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำโดยเด็ดขาด 2)การออกแบบและก่อสร้างเส้นทางเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง กรมชลประทานต้องดำเนินการไม่ให้ทำลายหรือกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติเพิกถอนเท่านั้น 3)เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ให้กรมชลประทานส่งคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้งโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ