นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอีก และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้งสองฉบับ สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
โดยร่างปฏิญญาดังกล่าวเป็นเอกสารแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ โดยได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและคุ้มครองประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ประสานการดำเนินมาตรการของประเทศสมาชิกในด้านการรักษา การวิจัย การพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข ย้ำความสำคัญของการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เพียงพอ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคลังเก็บสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และสนับสนุนบทบาทของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน อีกทั้งสนับสนุนการนำเงินกองทุนความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนที่มีอยู่มาจัดสรรสำหรับการรับมือโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ของไทย การรักษาบูรณาการทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค รวมทั้งการกำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต
ส่วนร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำประเทศอาเซียนบวกสาม เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ในอนาคต โดยได้ระบุถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 การจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นของภูมิภาค การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การช่วยเหลือคนชาติของประเทศอาเซียนบวกสาม การให้ข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสและถูกต้อง การรับมือกับข่าวปลอม และมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค เป็นต้น