(เพิ่มเติม) COVID-19: ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 29 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย, เตรียมพร้อมรับนร.ทุน AFS ทยอยกลับไทย

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2020 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้น 29 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,672 คน จำนวนผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้วรวมทั้งสิ้น 1,593 คน รักษาตัวอยู่ใน รพ. 1,077ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 คน รวมเป็นผู้เสียชีวิตสะสม 46 คน

ผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายชาวมาเลเซียวัย 55 ปี อาชีพไกด์ ไม่มีโรคประจำตัว โดยมีประวัติเดินทางไปประเทศจอร์เจียในช่วงวันที่ 13-19 มี.ค.มีลูกทัวร์ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับมาถึงไทยตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.แต่เข้ารับการรักษาใน รพ.ที่ กทม.เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ด้วยอาการไอ เหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดเหลือ 88% พบปอดอักเสบและมีผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด อีก 2 สัปดาห์ต่อมาอาการแย่ลงจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 14 เม.ย.

รายที่ 2 เป็นหญิงไทยวัย 45 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และไขมันในเลือดสูงแต่รักษาไม่ต่อเนื่อง เริ่มป่วยในวันที่ 20 มี.ค.ด้วยอาการ ไอ หอบเหนื่อย เข้ารักษาครั้งแรกใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่งและได้รับยาไปกินที่บ้าน ต่อมาในวันที่ 26 มี.ค.กลับเข้ามารักษาตัวใน รพ.ด้วยอาการไข้สูงขึ้น หอบเหนื่อยมากขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง และติดเชื้อในกระแสเลือด จากนั้นในวันที่ 27 มี.ค.ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด มีอาการเหนื่อยมากขึ้นจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย.

รายที่ 3 เป็นชายไทยวัย 37 ปี อาชีพรับจ้างขับรถแบ็คโฮ มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน ประวัติเสี่ยงคือภรรยาทำงานร้านอาหารย่าสุขุมวิทใน กทม.เมื่อร้านปิดให้บริการก็กลับไปอยู่ด้วยกันใน จ.ปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ต่อมาวันที่ 22 มี.ค.พบว่ามีไข้สูง ทอลซิลอักเสบ เข้ารักษาอาการที่คลีนิกใน จ.ปราจีนบุรี ระหว่างนั้นมีอาการป่วยมากขึ้น และเข้ามาที่คลินิกอีก 4-5 ครั้งจนกระทั่งแพทย์แนะนำให้ไปตรวจที่ รพ.ประจำจังหวัดในวันที่ 6 เม.ย.มีไข้สูง 39.1 องศาฯ และหน้ามืด แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและตรวจพบติดเชื้อโควิด มีอาการแย่ลง จากนั้นเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เม.ย.

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 29 ราย มาจากประวัติเสี่ยงใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 14 ราย, คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 ราย, ผู้ที่เข้าไปในที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสิค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย, ผู้มีอาชีพเสี่ยง 2 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 10 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศว่า ในวันที่ 17 เม.ย. จะมีนักเรียนทุน AFS เดินทางกลับมาไทย 129 คน, วันที่ 18 เม.ย.จำนวน 123 คน และวันที่ 19 เม.ย. จำนวน 160 คน ส่วนวันนี้มีคนไทยเดินทางกลับมาจากมัลดีฟส์ 55 คน มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 119 คน พรุ่งนี้ 17 เม.ย.จะมาจากบังคลาเทศ 35 คน ซึ่งในแต่ละวันไม่เกิน 200 คน ซึ่งฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายความมั่นคงจะดูแลทุกคน

สำหรับผู้ป่วยสะสม 2,672 ราย ใน 68 จังหวัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,349 ราย ภูเก็ต 191 ราย นนทบุรี 148 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ยะลา 96 ราย ปัตตานี 86 ราย ชลบุรี 81 ราย สงขลา 56 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 33 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 70 ราย

ขณะที่จังหวัดที่เคยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แต่ขณะนี้ไม่มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในช่วง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-15 เมษายน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่ปลอดเชื้อ มีทั้งหมด 25 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

"ต้องขอชมจังหวัดที่เคยมีจุดสีแดงและขณะนี้หายไปแล้ว ในช่วง 14 วัน ที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยใหม่เลย จึงขอชื่นชมทุกจังหวัดรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกฝ่ายงาน รวมถึงประชาชนทุกคนที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ และทำให้ประชาชนในจังหวัดของท่านไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มใน 14 วัน การจะผ่อนคลายมาตรการใดๆ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินใจ" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

สำหรับการพิจารณาว่าจะขยายเวลาใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือผ่อนปรนนั้นจะพิจารณาจากอะไรนั้น คาดว่า 1 สัปดาห์ก่อนจะครบกำหนดการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯช่วง 26 มี.ค.-30 เม.ย. จะมีการประชุมหารือกันในเรื่องนี้ว่าจะจะขยายเวลาใช้มาตรการหรือไม่ จะผ่อนปรนอย่างไรเพื่อให้หลักการด้านสุขภาพไปได้ เศรษฐกิจไปได้ สังคมไปได้

ในด้านความมั่นจากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 15 เม.ย. พบว่า มีการฝ่าฝืนคำสั่ง 1,005 คน ออกนอกเคหสถานรวม 832 คน มั่วสุมรวม 173 คน จังหวัดที่มีการดำเนินคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิวสูงสุด ได้แก่ 1.นนทบุรี 101 ราย 2.กรุงเทพฯ 49 ราย 3.ระยอง 37 ราย 4.สมุทรปราการ 32 ราย 5.ปทุมธานี 32 ราย 6.สมุทรสาคร 31 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 27 ราย 8.สระบุรี 23 ราย 9.ภูเก็ต 22 ราย และ 10.นครราชสีมา 16 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ