นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการสุขาภิบาลน้ำบริโภคในชีวิตประจำวันของประชาชน ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากเชื้อจะสามารถอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมงจนถึงหลายวันตามชนิดพื้นผิว เช่น อลูมิเนียม 2 - 8 ชั่วโมงเหล็ก สแตนเลส 2 วัน แก้ว 4 วัน และพลาสติก 5 วัน ซึ่งวัสดุดังกล่าวมักนิยมนำมาใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุน้ำดื่ม เช่น ถังน้ำพลาสติก ถังน้ำสแตนเลส แก้วน้ำ เป็นต้น หากไม่มีการทำความสะอาดหรือ ใช้ภาชนะเหล่านี้ร่วมกันอาจทำให้เชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนตามภาชนะดังกล่าวและทำให้ติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับประชาชนเพื่อจัดการสุขาภิบาลน้ำบริโภคในครัวเรือนอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
"ทั้งนี้ วิธีการปฏิบัติที่แนะนำคือให้ยึดหลัก 5 ล. ได้แก่ 1) ล. เลือก ให้เลือกน้ำดื่มที่สะอาด ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. น้ำประปาใส มีกลิ่นคลอรีนอ่อน ๆ และน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญที่มีสภาพตู้สะอาด มีการเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดเวลา
2) ล. ล้าง ต้องล้างภาชนะที่ใช้บรรจุหรือใช้ดื่มน้ำให้สะอาดทุกครั้งทั้ภายนอกและภายใน และหลังจากการล้างควรทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้มในน้ำเดือดหรือแช่ในน้ำคลอรีน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร นาน 2 นาที หรือ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร นาน 1 นาที
3) ล. ลดให้ลดการสัมผัสจุดที่สัมผัสน้ำ เช่น ก๊อกน้ำดื่ม พื้นผิวภายในภาชนะ แต่หากจำเป็นต้องสัมผัสในกรณีของการเปลี่ยนถังน้ำ เปลี่ยนไส้กรอง ควรล้างมือให้สะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และเมื่อต้องรอกดน้ำจากตู้น้ำดื่มควรลดความใกล้ชิดโดยว้นระห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1-2 เมตร
4) ล. เลี่ยง ให้เลี่ยงการใช้บริการน้ำดื่มร่วมกัน ควรเตรียมน้ำดื่มใส่ภาชนะบรรจุเฉพาะตนเอง และเลี่ยงความสับสน โดยทำสัญลักษณ์หรือเขียนชื่อบนภาชนะน้ำดื่มของตนเองไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น
5) ล. เลิก ต้องเลิกใช้ภาชนะดื่มน้ำร่วมกัน เช่น แก้ว จอก ขัน ควรแยกใช้ส่วนตัวหรือแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคหากมีอาการไข้ น้ำมูก ไอ จาม และควรหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์" นายแพทย์ดนัย กล่าว