นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมทางไกลเปิดตัว Regional Action Group for Asia Pacific จัดโดย World Economic Forum (WEF) เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือกับ โควิด-19 รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการรื้อฟื้นเศรษฐกิจและสังคมหลังการระบาดโควิด-19 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ และภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย และประธานของ World Economic Forum เข้าร่วมการประชุม
นายอนุทิน กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทุกมิติ การรับมือจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เตรียมพร้อมตั้งแต่ระยะแรกของการระบาด ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์และควบคุมการระบาดของโรคได้ ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 40 ราย โดย WEF จะมีบทบาทสำคัญในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการดำเนินธุรกิจในบริบท "ความปกติในรูปแบบใหม่" (new normal)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี คือ การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งได้น้อมนำปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตระหว่างการเผชิญกับโรคระบาด รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการป้องกันควบคุมโรคในระดับชุมชน และความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างเสียสละในการรับมือกับโรคระบาดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
นายอนุทิน กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคของไทยว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลคือความปลอดภัยของประชาชน การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และรัฐบาลกำลังร่างแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว