นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ทรู นำความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ผสานความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมและดิจิทัลโซลูชันช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต กลุ่มทรูจึงเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้คนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน
โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม Teleclinic และเปิดใช้งานจริงครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชัน Chula Teleclinic ช่วยบุคลากรทางการแพทย์คัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อโรคโควิด-19ในเบื้องต้น พร้อมกันนี้ แพลตฟอร์ม Teleclinic ยังเชื่อมต่อเทคโนโลยีสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านระบบแชตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวมถึงมีระบบบริหารจัดการด้านการแพทย์ครบวงจร ที่ช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังช่วยให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยอีกด้วย
แพลตฟอร์ม Teleclinic ออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานที่เอื้อประโยชน์ด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจร ทั้งสำหรับประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้สะดวก ง่าย และมีประสิทธิภาพสูงสุด
-เทคโนโลยีแชตบอต สอบถามและให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อประเมินความเสี่ยง
-ระบบบริหารจัดการด้านการแพทย์ สามารถรวบรวมข้อมูลจากการคัดกรองเบื้องต้น เชื่อมโยงเข้าสู่ขั้นตอนการนัดปรึกษาแพทย์ การนัดหมายเข้ารับการตรวจ และติดตามการรักษาต่อเนื่องตลอดจนสิ้นสุดการกักตัว 14 วันหลังรักษาหายแล้ว โดยมี
-ระบบประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์เชิงสถิติ และแสดงผลผ่าน Dashboard อาทิ ข้อมูลภาพรวมสถานะของผู้ที่เข้ามาทำการประเมินความเสี่ยง และ ประวัติการตอบคำถามตามแบบประเมิน และผลที่ระบบทำการคัดกรองเบื้องต้น เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การนัดหมายพูดคุยปรึกษาแพทย์
-เทคโนโลยีสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ผ่านระบบแชตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อำนวยความสะดวกในการพูดคุยปรึกษากับแพทย์ ทั้งก่อนเข้ารับการรักษา และติดตามการรักษาได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
"กลุ่มทรู มั่นใจว่า แพลตฟอร์ม Teleclinic จะเป็นช่องทางให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงติดเชื้อจากการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อหรือมีอาการต้องสงสัย สามารถคัดกรองเบื้องต้นและประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองได้ง่ายๆ และปรึกษาแพทย์ได้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลจากอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยศักยภาพการทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงสามารถการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Chula Teleclinic เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแล้วที่เพลย์สโตร์ (Play Store)" นายพิชิต กล่าว