พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมแผนกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในฤดูฝนปี 2563 ผ่านระบบทางไกลว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งผลการดำเนินการประจำปี 2562 และ 2563 และเพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการรับน้ำหลากช่วงฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนภายใต้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ที่แสดงการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง จำนวน 25 จุด มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบหลัก จัดทำตามแผนดำเนินการ ได้แก่ 1.กรมชลประทาน 16 จุด 2.กรมเจ้าท่า 4 จุด 3.กรมโยธาธิการและผังเมือง 3 จุด และ 4.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2 จุด
โดยได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนนี้ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำให้เร่งรัดติดตามการจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำด้วยเรือท้องแบนที่ได้จัดซื้อให้ โดยขอให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บทุกวันอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมผลการดำเนินงานให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทราบทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ส่วนการดำเนินการของชมรมคนริมน้ำขอให้นายอำเภอไปทำการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันก่อนเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างแล้ว สทนช.ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการจัดการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการไหลของน้ำลดลงโดยได้ถูกกำหนดให้อยู่ในแผนแม่บทน้ำฯ 20 ปี และแผนปฏิบัติการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนนี้ ซึ่ง สทนช.จะมีการประสานงานติดตามความก้าวหน้า รวมทั้งอำนวยการให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักได้ดำเนินการสำรวจปริมาณผักตบชวาในแหล่งน้ำทั่วประเทศที่ต้องดำเนินการจัดเก็บและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานร่วมกับ 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบในแม่น้ำสายหลักอย่างชัดเจน โดยนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศของ GISTDA มาใช้ในการชี้เป้าดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนนี้
ขณะที่ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาได้แบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและพื้นที่แหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยง โดยพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางมี 4 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบในแม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาลงมา) และแม่น้ำแม่กลอง กรมชลประทาน รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (เหนือเขื่อนเจ้าพระยา) แม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพลเทพถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำบรมธาตุถึงประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด) แม่น้ำป่าสักแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง กรมเจ้าท่า รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (จากเขื่อนเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯ) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา) แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำสะแกกรัง และกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงคลองสาขาในเขตกรุงเทพฯ ส่วนแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยงทั่วประเทศให้บูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดหาเรือท้องแบนแบบติดเครื่องยนต์ จำนวน 790 ลำ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการกำจัดผักตบชวา และกรมการปกครองได้จัดตั้งชมรมคนริมน้ำ จำนวน7,608 ชมรม มีสมาชิก จำนวน 1,424,050 คน
สำหรับในปีงบประมาณ 2562 มีผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศของทุกหน่วยงานร่วมกัน สามารถกำจัดได้ทั้งหมด 4,646,622 ตัน และปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – 17 เมษายน 2563 สามารถกำจัดได้แล้วจำนวน 1,411,156 ตัน ทั้งนี้ การกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารจัดการน้ำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเปิดทางน้ำ ให้น้ำสามารถไหลเวียน การบริหารจัดการน้ำทำได้สะดวกทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน อีกทั้งยังเป็นการรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำและแหล่งน้ำให้อยู่ในค่ามาตรฐานอีกด้วย