สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ได้นำเสนอพ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่เริ่มให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 63
การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้สำหรับการประชุมที่ต้องการผลตามกฎหมาย หรือกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ใช้ได้ทั้งการประชุมของภาครัฐ และภาคเอกชน
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม คือ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และรวมถึงผู้ซึ่งต้องชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ
ข้อกำหนดของการจัด e-Meeting ที่จะมีผลตามกฎหมาย
การจัดประชุม
- ต้องจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงตนก่อนร่วมประชุม
- ต้องจัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งแบบลงคะแนนโดยเปิดเผยและแบบลงคะแนนลับ
- ต้องจัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ (สามารถจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้)
- ต้องจัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ
- ต้องจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ (Log File) ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน
- ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจกำหนด
(ปัจจุบันให้ใช้ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2557 ไปก่อน จนกว่าจะมีประกาศฉบับใหม่ของกระทรวงดิจิทัลฯ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... โดยส่งความคิดเห็นได้ที่ ictlawcenter@etda.or.th)
ระบบควบคุมการประชุม
การใช้ระบบควบคุมการประชุม
- ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจัดการประชุม เช่น บันทึกขออนุมัติจัดประชุม หรือหนังสือเชิญประชุม
- ต้องมีกระบวนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ที่สอดคล้องตามแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า
- ต้องทำให้ผู้ร่วมประชุมสามารถสื่อสารกันได้ด้วยเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ
- ต้องเชื่อมโยงสถานที่ประชุมตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปเข้าด้วยกัน
- ต้องทำให้ผู้ร่วมประชุมสามารถสื่อสารกันได้สองทาง
- ต้องมีอุปกรณ์สำหรับนำเข้าข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น โทรศัพท์ กล้อง ไมโครโฟน
- ต้องมีอุปกรณ์เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงหรือแปลงสัญญาณเสียงหรือทั้งเสียงและภาพที่เหมาะสม
- ต้องทำให้ประธานในที่ประชุมหรือผู้ควบคุมระบบสามารถตัด สัญญาณเสียงหรือภาพ หรือหยุดการส่งข้อมูลได้ทันทีหากมีเหตุจำเป็นหรือมีกรณีฉุกเฉิน
- ต้องมีผู้ควบคุมระบบที่สามารถตรวจสอบการทำงานและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร่วมประชุม โดยการเข้าถึงระบบแบบระยะไกล (remote access)อื่น ๆ
- ต้องให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนสามารถดูข้อมูลการประชุมที่กำลังนำเสนอในที่ประชุมผ่านเครื่องหรืออุปกรณ์ของตนเองได้ตลอดระยะเวลาการประชุม
- ต้องมีมาตรการการบันทึก เช่น ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการระบุตัวตนผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมการประชุม และการรักษาความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม
ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท โคโนวานซ์ จำกัด, ระบบ Microsoft Teams / บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, ระบบ Zoho Meeting / บริษัท แอคท์วี แมนเนจเม้นท์ จำกัด, ระบบ Cisco Webex / บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ระบบ G Suite - Hangouts Meet / Tangerine Co.,Ltd., ระบบ Zoom Video Conference / บริษัท วัน-ทู-ออล จำกัด, ระบบ Cisco Webex / บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)​ , ระบบ CAT Conference / บมจ. กสท โทรคมนาคม, ระบบ BlueJeans / บริษัท แพลนเน็ตคลาวด์ จำกัด
อย่างไรก็ตาม การใช้งานระบบ Zoom ปัจจุบันมีรายงานการค้นพบช่องโหว่ของระบบ ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้งานและประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัย ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ