นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยว่า ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อะไรโดนใจประชาชน ช่วงโควิด-19 ในด้านสังคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 70.8% ระบุการดูแล รักษา ฟื้นฟู ผู้ติดเชื้อของ แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในขณะที่ 48.7% ระบุ การสนับสนุนการแพทย์ ของ กระทรวงสาธารณสุข และ 8.5% ระบุ การทำงานช่วยเหลือประชาชนของ หน่วยกู้ภัย
สำหรับเรื่อง อะไรโดนใจประชาชน ช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่าย หลังมาตรการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 53.8% ระบุ การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน ของกระทรวงพลังงาน ในขณะที่ 44.6% ระบุ การแจกเงินของกระทรวงการคลัง และ 37.8% ระบุ การลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ของกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ
เมื่อถามถึง การทุ่มเททำงานของรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 67.3% ระบุ รัฐบาลทุ่มเททำงานค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ 32.7% ระบุค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ทุ่มเทเลย ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงการทำงานของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรียบเทียบกับ ผู้นำประเทศอื่น ๆ ในการรับรู้ของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 63.3% ระบุ นายกรัฐมนตรีของไทย ทำงานได้ดี ดีมาก ดีเยี่ยม ในขณะที่ 36.7% ระบุไม่ค่อยดี ดีน้อย ไม่ดีเลย
ทั้งนี้ ซูเปอร์โพล ทำกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,358 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 24 เมษายน 2563
นายนพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าหลังรัฐบาลออกมาตรการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"นั้น ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้การทำงานของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชาชนระบุว่าทำงานได้ดี ดีมาก ดีเยี่ยม กระจายกันไปเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผู้นำประเทศอื่น ๆ ในการรับรู้ของประชาชน และมาตรการช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนจับต้องได้เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ได้แก่ การลดค่าไฟฟ้าระลอกล่าสุดที่ครอบคลุมและทั่วถึงโดนใจประชาชนส่วนใหญ่ครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือนของประเทศ และมาตรการแจกเงินของกระทรวงการคลังที่อาจจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผลสำรวจพบว่าจำนวนมากได้รับประโยชน์ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก การสื่อสารและการบริหารจัดการในระบบฐานข้อมูลหรือ Big Data ของรัฐบาล