นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแนวทางเพื่อรองรับหากรัฐบาลผ่อนคลายให้สถานบริการประเภทคลินิกความงาม นวดสปา กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง หลังจากที่สั่งปิดชั่วคราวเพื่อคุมเข้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ โดยในส่วนของคลินิกความงามหากจะเปิดบริการได้กำหนดมาตรการ ประกอบด้วย ช่วงก่อนเปิดบริการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกสถานประกอบการ ต้องทำความสะอาด จัดสถานที่เว้นระยะห่าง จัดจุดพื้นที่ภายนอกหรือส่วนแยก (Isolate area) เพื่อคัดกรอง เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เพียงพอ ส่วนที่สองผู้รับบริการ ต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานพยาบาล และส่วนที่สามผู้ให้บริการ ต้องจัดทำเวชระเบียนเพื่อซักประวัติผู้รับบริการ ให้บริการแบบ 1 คน ต่อแพทย์ พยาบาล 1 คนเท่านั้น
รวมถึงต้องจัดเตรียมห้องทำหัตถการแยกห้อง ๆ ละ 1 คน ส่วนในช่วงให้บริการ เน้นการคัดกรองผู้รับบริการเป็นสำคัญ วัดอุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียล ล้างมือและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่เข้ารับบริการ หากพบภาวะเสี่ยงต้องรายงานและส่งต่อรักษาได้ทันที นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หลังใช้งานและไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ทำความสะอาดพื้นที่และจัดเก็บขยะทุกครั้ง
ส่วนกิจการสปานวดเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อเสริมความงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องเตรียมสถานที่และบุคลากรในแนวทางเดียวกับคลินิกความงาม ทั้งการคัดกรอง ซักประวัติ เว้นระยะห่าง จัดห้องนวด 1 คนต่อห้อง ถ้าห้องรวมจะต้องเว้นหรือมีผ้าปิดกั้น ผู้ให้บริการและผู้รับบริการนวดต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังให้บริการ แต่งกายรัดกุม ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ แม่บ้านทำความสะอาดต้องจัดการขยะติดเชื้อแยกเฉพาะโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ทิชชูที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก จะต้องเก็บใส่ถุงมิดชิด ทั้งนี้จะส่งให้แต่ละแห่งได้สำรวจความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ และจะส่งทีมเข้าตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้สร้างแพลตฟอร์ม THAISTOPCOVID (stopcovid.anamai.moph.go.th) คนไทยรวมพลังป้องกันโรค เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งร้านอาหาร โรงแรม ร้านเสริมสวย ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ได้เข้ามาประเมินความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบและช่วยรายงานข้อมูลกลับมาด้วยว่าสถานประกอบการแต่ละแห่งปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานรองรับสถานบริการและประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบไปพร้อมกัน
อนึ่ง ในวันนี้นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อผ่อนปรนมาตรการจำกัดการประกอบกิจการ/จัดกิจกรรม ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ครั้งที่ 3/2563 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง กรมเจ้าท่า กรมการศาสนา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้แทนจากหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมรวมประมาณ 100 คน
การจัดประชุมครั้งนี้ มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าประชุม จัดที่นั่งแต่ละคนให้ห่างกัน และประชุมผ่านระบบ Video Conference แยกเป็น 3 ห้อง เพื่อให้ผู้เข้าประชุมเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 จากนั้นได้ประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพัฒนามาตรการพื้นฐานและมาตรการเฉพาะ เพื่อการผ่อนปรนกิจการ/จัดกิจกรรม และควบคุมกำกับ ประเมินผล โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม 6 ห้อง ดังนี้ 1) ตลาด/ตลาดนัด 2) ร้านอาหารทั่วไป/ร้านอาหารริมทาง 3) ภาคบริการ เช่น ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย 4) กิจการค้าปลีก/ส่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า 5) กิจการขนส่ง เช่น รถตู้ รถแท็กซี่ รถบัส เครื่องบิน เรือ รถไฟ และ 6) กิจกรรมตามประเพณีและสันทนาการ เช่น งานศพ สวนสาธารณะ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและแนวทางในมาตรการต่าง ๆ นำเสนอในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) เพื่อเป็นแนวทางและบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป