นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) ว่าตามที่ได้มีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบิน เข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ประกาศ ณ วันที่ 3 เม.ย.563 ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่ง ประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 6 เม.ย.63 และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3) ประกาศ ณ วันที่ 15 เม.ย.63 เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็ว นั้น
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในการคงความต่อเนื่องของมาตรการดังกล่าวต่อไปอีกเพื่อ ประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุมโรค อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่ง พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
1. ห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการ ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เวลา 23.59 น.
2. การอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกให้แก่อากาศยาน ขนส่งคนโดยสารสำหรับการบินเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตาม 1. ให้เป็นอันยกเลิก
3. ข้อห้ามตาม 1. ไม่รวมถึงอากาศยานดังต่อไปนี้
(1) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military aircraft)
(2) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency landing)
(3) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง
(4) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทำการบินทางการแพทย์หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) (Humanitarian aid, medical and relief flights)
(5) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation)
(6) อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo aircraft)
4. บุคคลหรือผู้โดยสารบนอากาศยานตาม 3. จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เช่น การกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และบรรดาข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548