(เพิ่มเติม1) COVID-19: ศบค.มีมติต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว,ไฟเขียวหลักการผ่อนปรนกิจการบางประเภทรอเคาะรายละเอียดบ่ายนี้

ข่าวทั่วไป Monday April 27, 2020 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน หรือวันที่ 1-31 พ.ค.โดยจะยังควบคุมเดินทางเข้า-ออกประเทศ เคอร์ฟิว และการชะลอเดินทางข้ามจังหวัด

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เห็นชอบหลักการแนวทางผ่อนปรนเปิดธุรกิจบางประเภทตามข้อเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตามที่ได้ร่วมหารือกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขของการกลับมาให้บริการในช่วงบ่ายวันนี้ หากได้ข้อสรุปก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้

โฆษก ศบค.ระบุว่า การกลับมาเปิดธุรกิจบางส่วนจะอยู่ภายใต้ข้อเสนอที่จะแบ่งธุรกิจเป็น 4 สี ได้แก่ สีขาว เป็นธุรกิจที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่โล่งแจ้ง สวนสาธารณะ, สีเขียว เป็น ร้านขนาดเล็กติดแอร์ พื้นที่ไม่มาก มีมาตรการควบคุม สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง, สีเหลือง เป็นกิจการที่มีพื้นที่ปิด มีขนาดใหญ่ คนใช้บริการจำนวนมาก และ สีแดง เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ยกตัวอย่าง สนามมวย แหล่งบันเทิง

"ท่านนายกฯ เห็นชอบด้วยในหลักการ แต่ยังไม่ได้พิจารณาลงไปในรายละเอียด หากเลือกกิจการใดก็อยากให้เปิดทั้งประเทศ ไม่ใช่เปิดบางที่ บางจังหวัด ก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน...ให้มั่นใจแล้วค่อยเปิด เปิดเสร็จแล้วก็ประเมิน ถ้าประเมินแล้วดีก็ผ่อนปรนต่อ ถ้าไม่ดีก็ปิด" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ การผ่อนปรนจะยึดหลัก แบ่งเป็น 4 ระยะ ห่างกัน 14 วัน โดยการผ่อนปรนแต่ละระยะจะต้องเป็นสถานประกอบการที่เปิดได้พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการเคลื่อนย้ายประชาชนข้ามเขต รวมทั้งมีการทบทวนและประเมินผลตลอดเวลา หากมีการแพร่ระบาดจะสั่งหยุดทันที ขณะที่กิจการเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขด้านสาธารณสุข คือ ต้องเว้นระยะห่าง, ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย, มีการวัดไข้, จัดบริการเจลล้างมือ, จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ และหากเป็นไปได้ให้มีการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไว้ 3 กรณี คือ 1.สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ เช่น ห้ามเดินทางเข้าประเทศ จำกัดการเคลื่อนย้ายในประเทศ และปิดสถานที่ต่างๆ จะพบผู้ป่วยประปราย 15-30 คน/วัน 2.สถานการณ์ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เช่น ชะลอการเดินทางเข้าประเทศ เปิดให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินการ จะพบผู้ป่วย 40-70 คน/วัน และ 3.สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงที่มีการระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง ไม่มีการห้ามเคลื่อนย้ายประชากรทั้งภายในและระหว่างประเทศ อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 คน/วัน ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 ซึ่งจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ศบค.จะให้เลื่อนวันหยุดราชการในเดือน พ.ค.ออกไปนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เป็นการนำเสนอจาก รมว.วัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาตามหลักการสาธารณสุขว่า หากมีวันหยุดติดต่อกันอาจมีการเคลื่อนย้ายมากขึ้น แต่มติดังกล่าวคงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ รวมถึงกรณีที่มีข่าวจะผ่อนปรนให้เปิดสถานบริการบางประเภทนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ครม.เช่นกัน โดยการพิจารณาดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ

ส่วนกรณีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอให้พิจารณาผ่อนปรนมาตรการนั้น เป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งที่ประชุม ศบค.ยังไม่ได้มีการพิจารณา คงต้องรอให้ที่ปรึกษาได้พิจารณาก่อน

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมศบค.วันนี้ มีมติเห็นชอบต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศออกไปอีก 1 เดือน ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้เสนอ อีกทั้งมีมติให้เลื่อนวันหยุดพิเศษและวันหยุดราชการทุกวันในเดือน พ.ค.ออกไปก่อน โดยจะชดเชยให้ในภายหลัง

ขณะที่เตรียมผ่อนคลายมาตรการเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านค้าขนาดเล็ก ตลาดนัด ทั่วประเทศ ภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรฐาน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ซึ่ง ศบค.จะมีการแบ่งประเภทกิจการที่จะให้เริ่มดำเนินการได้ก่อน และจะมีการประเมินทุกๆ 14 วัน ก่อนที่จะมีการขยายการเปิดกิจการเพิ่มเติมต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อดูจากฐานข้อมูลร้านอาหารขนาดเล็กจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้พิจารณาก่อน

ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมศบค. มีมติให้เลื่อนวันหยุดพิเศษและวันหยุดราชการทุกวันในเดือน พ.ค.ออกไปก่อน ประกอบด้วย วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. (เฉพาะเอกชน) / วันฉัตรมงคล 4 พ.ค. / วันวิสาขบูชา 6 พ.ค. และ วันพืชมงคล 11 พ.ค. (เฉพาะราชการ) โดยจะชดเชยให้ในภายหลัง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า หากมีการวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวันเป็นห่วงเรื่องการเดินทาง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 ได้มีมติให้เลื่อนวันหยุดราชการและวันหยุดของเอกชน ประจำปี ในวันที่ 13-15 เม.ย.63 ออกไปก่อนเช่นกัน โดยจะชดเชยให้ในภายหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ