นายสมโภชน์ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ธุรกิจของ EA จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากนัก แต่จากสถานการณ์โดยรวมที่ยืดเยื้อ และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนเกือบถึงวิกฤติ มาตรการอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ ไม่สามารถทำได้นานนัก แม้ว่าจะเริ่มมีการติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะยังคงอยู่ไปอีกระยะใหญ่ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อประคับประคองชีวิต และการยังชีพของคนไทยทุกคน เพื่อให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้ข้อจำกัดที่ยังไม่มีวัคซีนและยาที่ใช้ได้ผล
ทั้งนี้ จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยได้ชักชวนพันธมิตรเพื่อมาร่วมมือกันในชื่อ "กลุ่มช่วยกัน" ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยสมาชิกและพันธมิตรของกลุ่มช่วยกันจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ ในรูปของกลุ่มอิสระ การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เน้นการใช้พลังสมองในการวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อเตรียมการอย่างเป็นระบบ ลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้จัดการกับปัญหาในลักษณะที่จะส่งผลในวงกว้างให้มากที่สุด และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองพร้อมกับทีมงานทั้งภายในและต่างประเทศ
ทีมงานของกลุ่มช่วยกันประกอบไปด้วยผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถหลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรมการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟท์แวร์ การวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูล สถาบันการศึกษา ผู้ให้บริการข่าวสารและบันเทิง สื่อสารมวลชนทุกแขนง องค์กรอิสระและทีมงานสนับสนุนจำนวนมาก กลุ่มช่วยกันวางกลยุทธ์การดำเนินโครงการไว้ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย ด้านการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคและเครื่องกรองอากาศ ในพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล ห้องพักผู้ป่วยและสถานที่รองรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ตลอดจนรถพยาบาล ซึ่งจะช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญได้อย่างมั่นใจ โดยตั้งเป้าหมายกระจายความช่วยเหลือเบื้องต้น (ระยะแรก) ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ ติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัสแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 100 แห่ง ปรับปรุงห้องผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000 ห้อง ปรับปรุงอาคารที่พักนอกโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง 1,000 ห้อง ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ 500 คัน เป็นต้น ด้านการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างถูกต้อง เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ลดโอกาสการติดเชื้อและการแพร่เชื้อลงได้ โดยสื่อสารให้แพร่หลายเป็นระยะๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาชิกและพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน ติดตาม และประเมินความเสี่ยงของประชาชน โดยใช้ แอพพลิเคชัน "หมอชนะ" ที่จะทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น แอพพลิเคชันนี้พัฒนาโดยภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มช่วยกัน กลุ่ม Code for Public และกลุ่มผู้พัฒนาซอฟท์แวร์อิสระจำนวนมาก เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือที่จะอยู่ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคน แบบไม่ระบุตัวตนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและเก็บข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย
ระบบจะมีข้อมูลการเดินทางและวิเคราะห์ข้อมูลจากการพบปะหรือเข้าใกล้กับคนอื่น โดยมีการรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ แบบ real time ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นรู้ความเสี่ยงของตัวเอง มีระบบเตือนความเสี่ยงไปยังผู้ใช้ มีการให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เชื่อถือได้ จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้ ผู้ใกล้ชิด และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้
ทั้งนี้ EA และบริษัทในกลุ่มได้นำมาใช้ในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน ผู้รับเหมา และคู่ค้า ได้ผลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทและหน่วยงานเป็นจำนวนมากที่เป็นสมาชิกและพันธมิตรของกลุ่มช่วยกัน ได้นำไปใช้ในการดูแลพนักงานและคู่ค้าของตนเองอย่างแพร่หลายแล้ว ทำให้สามารถเริ่มดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ด้วยการดูแลอย่างเป็นระบบ จึงต้องการส่งเสริม เชิญชวน และขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะสามารถผลักดันไปสู่การใช้แอพฯหมอชนะกันทั้งประเทศ
"วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดนำร่อง สร้าง "Chachoengsao Model" ซึ่งถือเป็นต้นแบบ ก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถคืนกลับมาสู่การดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวันได้โดยเร็วและปลอดภัย"นายสมโภชน์ กล่าว
นายสมโภชน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ EA ยังได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และสามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในต้นทุนการตรวจที่ต่ำและรู้ผลทันที ทำให้สามารถนำชุดตรวจโควิด-19 มาใช้ตรวจสอบยืนยันโรคได้จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงช่วยให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรคได้และจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ด้านนายนิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เปิดเป็นศูนย์หลักของภาคใต้ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งช่วยเหลือโรงพยาบาลในเครือข่ายภายใต้ทั้งหมด นอกจากนี้ได้มีการตั้งศูนย์บรรเทาช่วงและการช่วยเหลือสำหรับจัดเตรียมและส่งมอบเวชภัณฑ์ให้กับสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในครั้งนี้มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับ กลุ่มช่วยกัน และเครือข่ายภาคี โดยอาสาเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การอำนวยความช่วยเหลือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มห้องปลอดเชื้อในเขตภาคใต้ และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันการใช้แอปพลิเคชันหมอชนะในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย นายประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า แอพพลิเคชัน "หมอชนะ" และ "ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19" จะเป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะใช้ต่อสู้ป้องกัน ควบคุม กำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามกลยุทธ์ของกลุ่ม "ช่วยกัน" ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางของ "THAI-PLUS MODEL" ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลกต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง (GDP) และความสุขด้านสุขภาพและสังคม (GHP) ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาลให้กลับมามั่นคงยั่งยืนจากความร่วมมือดังกล่าว นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมากทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และขาดรายได้เพื่อยังชีพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อทำให้สามารถเร่งรัดฟื้นฟูการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้กลับมาโดยเร็ว และสามารถปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 ที่จะยังคงไปอีกระยะใหญ่ อย่างน้อยคือถึงปีหน้า
ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่า แอพพลิเคชัน หมอชนะ จะเป็นเครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี จึงจะสร้าง "Chachoengsao Model" ขึ้นด้วยแผนการที่จะเป็นจังหวัดนำร่อง ในการรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชน สถานศึกษา ภาคธุรกิจ สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัด พร้อมใจกันโหลดแอพพลิเคชัน หมอชนะ มาใช้ควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การรักษาระยะห่างทางสังคม การรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือให้สะอาด การสวมใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างเต็มที่ เมื่อสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ มีแผนรับมือกับโรคอย่างเป็นระบบ ปกป้องบุคลากรการแพทย์ได้ ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการเปิดเมืองตามเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย แนวทางดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นรูปแบบและเป็นขั้นตอนตามสถานการณ์ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ที่ยึดหลักความจริงว่า ประชาชนต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ มีการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจของไทยดำเนินต่อได้ รวมไปถึงระดับภูมิภาค ที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีเขตติดต่อตามแนวชายแดน ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม รวมกว่า 300 ล้านคน คือ ไทย, กลุ่มประเทศ CLMV และมาเลเซีย โดยภาพรวมจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า GDP ของประเทศหลายเท่าตัว หากไม่ป้องกันให้รัดกุมก่อนการเปิดเมือง เปิดประเทศ (Lock Out) อาจเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงที่ยากจะควบคุมได้
แต่หากร่วมมือกันจนเกิดผลสำเร็จ ประชาชนและเศรษฐกิจก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ตามสมควร โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ การนำแอพฯหมอชนะมาใช้ พร้อมๆ กับใช้มาตรการการรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ เป็นต้น การดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมดจะสามารถทำให้วิถีชีวิตของคนไทยและฟันเฟืองเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินไปได้ ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ โรงงาน อุตสาหกรรม ร้านค้า การบริการ เกษตรกร ตลอดจนการเดินทาง การท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเริ่มมีชีวิตอีกครั้ง รวมถึงการเคลื่อนย้ายคน แรงงาน และการขนส่งระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นต้น สามารถกลับมาเปิดได้เหมือนเดิมในที่สุด