นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า วันนี้ ถือเป็น Big Move อีกก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของการนำ 5G ช่วยเหลือและสนับสนุนการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบไปอีกขั้น โดยเอไอเอสได้รับความไว้วางใจจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้มีโอกาสนำเทคโนโลยี 5G มาร่วมยกระดับศักยภาพการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ หรือ 5G Total Telemedicine Solutions ในหลากหลายมิติ ให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์"
โดยครอบคลุมตั้งแต่การนำ 5G เข้ามาผสมผสานเพิ่มขีดความสามารถให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง เพื่อทำให้อุปกรณ์ทางแพทย์สามารถทำงานและแสดงผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ดังเช่น ครั้งนี้ ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI บนเครือข่าย 5G สำหรับเครื่อง CT Scan ปอด เครื่องแรกของไทยอีกด้วย เพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้นหลายเท่าตัว, การมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่าง เพื่อเซฟทั้งทีมแพทย์และผู้ป่วยให้ปลอดความเสี่ยงโควิด-19
ตลอดจน การนำแอปฯ เกี่ยวกับบริการพบแพทย์ออนไลน์ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาแพทย์ผ่านทางไกลจากที่บ้าน โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ช่วยในการคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเบาภาระให้กับทีมแพทย์ รวมถึงเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
ทั้งยังได้นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโมเดลต้นแบบของการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาในอนาคต เตรียมความพร้อมสู่ New Normal วงการแพทย์ไทยหลังยุคโควิด-19 ซึ่งเราก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายและส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยี 5G เพื่อการแพทย์สู่สังคมไทย ทั้งนี้ 5G Total Telemedicine Solutions เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย
- นำ 5G สนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI อัจฉริยะสำหรับเครื่อง CT Scan ปอด บนเครือข่าย 5G เครื่องแรกของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง CT Scan ให้สามารถส่งภาพปอดที่มีไฟล์ขนาดกว่า 300 MB ขึ้นไปประมวลผลผ่านระบบ AI-assisted Medical Imaging Solutions for COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดย ระบบ AI จะทำการเปรียบเทียบภาพปอดของผู้ป่วย โควิด-19 ในประเทศจีนและไทยที่มีอยู่จำนวนหลายเคส บน Cloud Computing และประมวลผลว่าปอดของผู้ป่วยคนนี้ มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และอยู่ในระยะไหน ซึ่งให้ผลแม่นยำถึง 96% และช่วยลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่รวดเร็วและทันท่วงที
ทั้งนี้ เครือข่าย 5G ยังมีประโยชน์ที่เด่นชัดอย่างมากในด้าน Mobility ซึ่งหากมีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ออฟติกได้เข้าไปปล่อยสัญญาณได้ ก็สามารถใช้เครือข่าย 5G ได้แทน
- ส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ, เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ, Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่าน Video Call เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ทำงานบนเครือข่าย 5G ภายใต้ระบบประมวลผล AIS Robot Platform ซึ่งเอไอเอสพัฒนาขึ้นเอง ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง และสามารถ Customized ให้ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละโรงพยาบาล โดยจะถูกนำไปใช้งาน ณ หอผู้ป่วยในของผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
- สนับสนุนสมาร์ทดีไวซ์ (Device), เครือข่าย (Network) และแอปพลิเคชัน (Application) แบบครบวงจร เพื่อเสริมประสิทธิภาพบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ด้วยระบบ Video Call ซึ่งถูกนำไปใช้งานที่ศูนย์บริการ COVID-19 Call Center ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยร่วมกับแอปพลิเคชัน "ME-MORE" (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอปฯ พบแพทย์ออนไลน์ ที่ให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพียงลงทะเบียนผ่านแอปฯ ME-MORE จากนั้นระบบจะจัดสรรคิวในการพบและพูดคุยกับแพทย์ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลรักษาได้ทันที ในกรณีที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ก็จะทำการนัดเข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในอนาคต ยังสามารถขยายผลไปสู่การดูแลรักษาโรคอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบได้อีกด้วย
- นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยสร้างห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งการเรียนในห้องเรียนที่มี Social Distancing และการเรียนออนไลน์สำหรับนักศึกษา รวมทั้งการฝึกปฏิบัติแบบเรียลไทม์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะช่วยประเมินการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เองก็ได้มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบต่างๆ มาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสงสัยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังสามารถพบแพทย์อยู่ที่บ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในช่วงนี้ ตามมาตรการให้การ "รักษาแบบมีระยะห่าง" ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย ตลอดจนลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการเผชิญหน้าของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ทุกส่วนงาน