พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า ครม.มีมติต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน และยังคงคุมเข้ม 4 มาตรการสำคัญ คือ 1.ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างจังหวัด 2.งดการจัดกิจกรรมที่ชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก 2.เคอร์ฟิว เวลา 22.00 - 04.00 น.ทั่วประเทศ และ 4.ขยายระยะเวลาควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนเข้าใจรัฐบาล และให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ จนเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ
ขณะที่ ครม.ยังให้คงวันหยุดพิเศษและวันหยุดราชการในเดือน พ.ค.63 ตามปกติ โดยไม่ได้เลื่อนวันหยุดออกไปตามที่ ศบค.เสนอ แต่ขอให้ดำเนินมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะต้องคุมและเข้มงวดมาตรการต่างๆ ทั้งการสาธารณสุขและเดินทาง
ส่วนการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ที่จะพิจารณาในระยะต่อไป และขอให้ใจเย็นรอการประกาศให้ทราบต่อไป ซึ่งจะมีความชัดเจนและประกาศภายในสัปดาห์นี้ เพราะรัฐบาลทราบดีว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้านรายได้และการดำรงชีวิต แต่จำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิต และด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ได้ให้หลักการไปแล้วว่าจะต้องนำหลักการของกิจกรรมต่าง ๆ ในกทม.และต่างจังหวัดมาพิจารณาว่า 100% มีกิจกรรมใดที่สามารถ ผ่อนคลายข้อกำหนดบางประการได้บ้าง โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ 1-4 ระยะ ห่างกัน 14 วัน และแบ่งประเภทกิจกรรมตามสีต่าง ๆ คือ สีขาว สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งส่วนกลางจะกำหนดเป็นหลักการของการปฏิบัติ ขณะที่ท้องถิ่นและผู้ประกอบการสามารถกำหนดมาตรการเสริมได้เอง เพื่อให้เป็น "ฟรีโควิด"
"จะทำมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะ สถานประกอบการก็ต้องเตรียมการให้พร้อม ทุกคนเพิ่มเติมได้เพื่อให้เป็นโควิด-ฟรี พนักงานต้องตรวจโรค ท่านต้องทำเอง จะแจ้งภายในเร็ว ๆ นี้ จะประกาศให้ทราบ อย่าเพิ่งเรียกร้อง...ส่วนกลางมาพิจารณาแนวทางปฏิบัติ และฟังจากท้องที่ท้องถิ่นด้วย ต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดไม่ให้กลับมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมกับขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการส่วนท้องถิ่น ตระหนักและให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะหากเปิดให้สถานประกอบการเปิดบริการแล้ว จะต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการแพร่ระบาด
นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการเห็นใจรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหารอบด้าน ทั้งความเดือดร้อนของประชาชน เศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือมาตรการทางสาธารณสุข พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหาของทุกคน จึงขอให้ทุกคนอดทนในระยะนี้ รัฐบาลจะดูและประชาชนอย่างดีที่สุดให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และนายกรัฐมนตรียังระบุอีกว่า "หากประชาชนเจ็บ ผมเองก็เจ็บด้วย"
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การผ่อนคลายจะเน้นเรื่องมาตรการภาคบังคับ ภายใต้กรอบการกว้าง ๆ แต่หลักการคือ 3 ประเด็น คือ จะเริ่มทยอยปลดล็อคในแต่ละระยะ ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.และ ครม.จะกำหนดอีกครั้ง, จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ, ทยอยเปิดกิจการหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งจะประเมินผลทุก 2 สัปดาห์หากวางใจได้ก็จะเปิดเพิ่ม และ ยังคงเคอร์ฟิวถึงปลายเดือน พ.ค.63
"ประเด็นพวกนี้การบังคับจะทยอย ๆ ผ่อนคลายตามสถานการณ์ แต่ภาคบังคับบางอันแม้ว่าจะผ่อนคลายไม่ใช่ว่าไปทำสิ่งที่ไม่อยากให้ทำ อย่างเคอร์ฟิว ช่วงกลางคืน รวมตัวมานั่งดื่มนั่งกิน ก็ไม่ใช่ข้อแนะนำของเราอยู่แล้ว ขอให้อยู่ห่างกันระดับหนึ่งเหมือนเดิม"นพ.ธนรักษ์ กล่าว
การพิจารณาผ่อนคลายกิจกรรมหรือสถานประกอบการต่าง ๆ นั้น อย่างแรกต้องพิจารณาว่า มีโอกาสแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย ลักษณะสัมผัส ใกล้ชิดแค่ไหน ถ้าต้องยืนประจัญหน้าไม่ถึง 1 เมตรก็ถือว่าเสี่ยงสูง ถ้าแค่เดินสวนกันผ่านกันรวดเร็วถือว่าเสี่ยงต่ำ , ระยะเวลาสัมผัส หากเป็นเวลาไม่กี่นาที-5 นาที หรืออยู่กันแบบเงียบ ๆ ถือว่าเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าตะโกนใส่กันมีน้ำลายฝอยในอากาศถือว่าเสี่ยงสูง
นอกจากนั้น ยังพิจารณาจากความสามารถในการระบายอากาศของสถานที่นั้น ๆ เช่น สวนอาหาร สวนสาธารณะ เป็นสถานที่เปิดอากาศถ่ายเทสะดวก แต่หากเป็นสถานที่ปิดแคบอับทึบ อากาศแทบไม่ระบายเลย ถือว่าเสี่ยงสูง และ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดมีมากน้อยแค่ไหน จากจำนวนของผู้มีโอกาสสัมผัสเชื้อหาแออัดมากแล้วเกิดมีผู้มีเชื้อก็จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นสถานที่เสี่ยงสูง