นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ 10 ปลัดกระทรวงว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กลับไปพิจารณาภาพรวมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางนอกเหนือจากกลุ่มคนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติความช่วยเหลือไปแล้ว เช่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มที่ไม่มีหรือไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต กลุ่มคนล้มละลาย กลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรม ได้แก่ ศิลปินเพลง ศิลปะ ลิเก ลำตัด รวมถึงบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นักกีฬาอาชีพ นักมวย นักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งในส่วนนี้ต้องประสานความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย
นอกจากนี้ พม.จะกลับไปพิจารณางบประมาณที่จะใช้ดำเนินการใหม่ด้วย จากเดิมที่ตั้งงบมา 3.9 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง 13 ล้านคน เพราะต้องดูแลกลุ่มตกหล่นเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวได้ภายในกลางเดือน พ.ค.63 โดยจะดำเนินการจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางเข้าบัญชีของแต่ละคนเลย ซึ่ง พม.จะส่งข้อมูลมาให้กรมบัญชีกลาง
สำหรับแนวทางในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวนั้น พม.จะกลับไปพิจารณาว่าจะช่วยเหลือแค่ไหน อย่างไร เพราะความจำเป็นของแต่ละกลุ่มอาจจะไม่เหมือนกัน บางกลุ่มอาจได้รับเงินเยียวยาไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เพราะบางกลุ่มไม่จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งตรงนี้ พม.จะมีการแยกพิจารณาเป็นรายกลุ่มเพราะมีหลักเกณฑ์ต่างกัน
"หัวใจสำคัญคือ ต้องพยายามดูแลช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น โดยเฉพาะคนเดือดร้อน เช่น นักมวยที่ตอนนี้ชกมวยไม่ได้ก็ต้องไปดู ถ้าเขาเดือดร้อนก็ต้องช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น การช่วยเหลือต้องดูตามสถานการณ์ ถ้าเปิดทำธุรกิจได้ เปิดการค้าได้ เขามีอาชีพ เขาก็ไม่เดือดร้อน แต่มันคงไม่ดีเหมือนเดิม เช่น ร้านอาหาร จะไปรวมกลุ่มไม่ได้ ต้องนั่งโต๊ะละคน คนละมุมโต๊ะ ขอให้ประคองกันไปได้ เพราะช่วงนี้ต้องใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ประคองไปให้ได้ พอให้เขาไปได้ ธุรกิจไปได้ แต่สาธารณสุขต้องเป็นตัวนำ สาธารณสุข ต้องดีก่อน เพราะเงิน 5 พันบาทที่ให้ ไม่ได้ทำให้ใครรวย แค่ประคองให้เขาอยู่ได้เท่านั้น" นายประสงค์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com คาดว่ากลางเดือน พ.ค.63 จะสามารถจ่ายเงินได้ครบ 16 ล้านคน โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เร่งทำงานตรวจสอบสิทธิ์อย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนโดยเร็ว
ปลัดคลังยังกล่าวถึงการตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับเงิน 5 พันบาทว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าจะหยุดตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนเมื่อไหร่ ต้องถามทางการเมือง เขาเห็นอยู่ ไม่เป็นไร เราเป็นข้าราชการก็พร้อมทำตามคำสั่ง
"เราเปิดโต๊ะให้ประชาชน แต่ก็ไม่สามารถบริการให้ทันใจทั้งหมดเพราะคนมาก และเงินเราไม่ใช่ว่ามีกองอยู่แล้ว เราต้องไปกู้มา การกู้ก็ต้องไปออกพันธบัตร เงินถึงจะมาเป็นจังหวะ พอเป็นจังหวะเงินเข้ามา คลังก็รีบจ่ายทุกครั้งที่มีเงินเข้ามา คนที่ถามว่าทำไมไม่จ่ายเงินวันนี้เลย ก็อยากให้คนที่ได้สิทธิ์เข้าใจว่าทำไมถึงได้เงินช้าไปอีก 3-5 วัน อยากยืนยันว่าได้เงินแน่ๆ ส่วนที่รัฐบาลเตรียมไว้วันนี้เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อน โดยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการเยียวยาประชาชน 5.55 แสนล้านบาท ตรงนี้ถ้าไม่พอก็ไปดึง 4 แสนล้านบาทที่เตรียมไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้" นายประสงค์ กล่าว
หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อถึง 6 เดือนจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้หรือไม่นั้น ปลัดคลัง ระบุว่า ถ้ายืดเยื้อคงไม่ได้ เราไม่มีทุนที่จะสู้อีกแล้ว ถ้าปล่อยให้ระบาดอีกรอบ เราจะมีปัญหาในการที่จะต้องกู้เงินอีกรอบ เพราะหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นพอสมควร เพราะเงินนี้เป็นเงินกู้ ไม่ควรที่จะจ่ายแบบไม่ควรจะเสีย ดังนั้นคนไทยทุกคนทั้งที่เดือดร้อนและไม่เดือดร้อนควรจะช่วยกันไม่ให้โรคระบาดเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 เพราะความเสียหายรอบ 2 เราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศว่ามันแรงกว่ารอบแรก ความเสียหายเพิ่มขึ้นคูณสองเท่า ซึ่งไม่อยากให้เกิดตรงนั้น เพราะถ้าเกิดตรง จะกลายเป็นต้นทุนอีกมหาศาลที่ต้องซื้อเวลา และโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยับ ทำการค้าจะช้าไปอีก
สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์ระบาดของไวรัสนี้เริ่มเห็นชัดตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้เดือน พ.ค.แล้ว ถ้าขืนปล่อยให้ระบาดรอบ 2 โดยที่ทุกคนยกการ์ดต่ำ หรือไม่ยกการ์ดแล้ว ประมาทแล้ว ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ใส่หน้ากากอนามัย จนทำให้เกิดปัญหารอบ 2 ขึ้น จะเป็นต้นทุนประเทศมหาศาล ต่อให้ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ต้องดิ้นรนหาเงินมา แต่ถามว่ามันถูกต้องหรือไม่ที่จะไปทำอย่างนั้น ถ้าเราทุกคนช่วยกันได้ก็จะเป็นการช่วยประเทศ เพราะถ้าเกิดต้องใช้เงินในเรื่องนี้ แล้วเศรษฐกิจก็ยังขยับไม่ได้ การค้ายังทำไม่ได้ ทุกคนจะเดือดร้อนหมด
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งจ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ของโครงการ โดยคาดว่าภายในวันที่ 8 พ.ค.63 จะสามารถจ่ายเงินได้ 11 ล้านคน โดยภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.นี้จะจ่ายได้ 2.6 ล้านคน แบ่งเป็น วันที่ 1 พ.ค. จ่ายได้ 1 แสนคน ผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย และในวันที่ 4 พ.ค. จะจ่ายได้อีก 1 แสนคน และวันที่ 5 พ.ค. 2563 คาดว่าจะจ่ายได้ 1 ล้านกว่าคน
ขณะที่มีผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาแจ้งคืนสิทธิ์แล้ว 3.1 พันคน และมีการยกเลิกการลงทะเบียน/ยกเลิกการทบทวนสิทธิ์ทั้งสิ้น 9 แสนคน ส่วนการยกเลิกการยกเลิกทบทวนสิทธิ์ที่เปิดให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันที่ 1 พ.ค. 2563 พบว่าจนถึงเวลา 10.00 น. มีคนลงทะเบียนแล้ว 9 หมื่นคน โดยยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงการคลังให้ความดูแลและช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม
"ย้ำอีกครั้งว่าวันนี้สิ่งที่ดีที่สุดก่อนจะมาคลัง คือ ให้เข้าไปดูที่เว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยเฉพาะกลุ่มสีเท่าที่ต้องตรวจสอบสถานะ หลายคนไม่ได้ดูว่าท่านผ่านแล้ว ท่านได้สิทธิ์แล้ว แต่รอการจ่ายเงิน ก็อยากให้เข้าไปตรวจสอบก่อนเพื่อจะได้สบายใจ คลายความกังวลว่าจะได้หรือไม่ได้เงิน 5 พันบาท ซึ่งปัจจุบันข้อมูลอัพเดทแล้วว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ 11 ล้านคน ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือที่เร็วที่สุดมากกว่าการมาคลัง" นายลวรณ กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระทรวงการคลังพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่มาตรการเยียวยา 5 พันบาท ออกมาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริการประชาชนในลักษณะที่เคยทำ ทำไม่ได้ เพราะคลังเป็นห่วงมากในการที่คนจะมารวมตัวกันเยอะ ๆ วันนี้ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็ไม่อยากให้กระทรวงการคลังเป็นแหล่งแพร่โรคระบาดแหล่งใหม่
"มาตรการเราไม่ทิ้งกันเป็นมาตรการออนไลน์ทั้งหมด ถ้าย้อนไปดูช่วงที่ทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังลงทะเบียนให้ทุกอย่าง เพราะตอนนั้นสถานการณ์มันเปิด เอื้ออำนวยให้ทำได้ แต่วันนี้มันคนละสถานการณ์จริงๆ ไม่ใช่กว่ากระทรวงการคลังไม่อยากทำให้ ขออนุญาตทำความเข้าใจว่าอยู่คนละสถานการณ์จริงๆ" นายลวรณ กล่าว