นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันกระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง และตรวจเพื่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันควบคุมโรค เป็นไปตามหลักการและนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจแบบเหวี่ยงแหลงได้ราว 3-5 เท่า
"ข้อสงสัยว่าเรามีผู้ติดเชื้อน้อยเพราะเราตรวจน้อยเกินไปหรือไม่ จากข้อมูลประเทศไทยพบว่าจะมีผู้ป่วยอาการรุนแรง 5% จากจำนวนผู้ป่วยปัจจุบันประมาณ 3,000 ราย หากคิดว่าเรามีผู้ป่วย 10,000 ราย จะต้องมีผู้ป่วยรุนแรง 500 ราย ซึ่งขณะนี้ไม่มี 500 รายดังกล่าว หากมีจะต้องได้รับการดูแลทุกคน เพราะผู้ป่วยในประเทศไทยจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย เราไม่ได้ตรวจน้อย แต่ตรวจแบบมีหลักการมีเป้าหมาย" นพ.ศุภกิจ กล่าว
รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในต่างประเทศ ประเทศไทยจึงได้มีมาตรการให้ความรู้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ในรูปแบบเครือข่าย และการสุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากขึ้นทำให้อัตราการพบเชื้อต่ำลง จากเดิมในระยะแรกพบผู้ติดเชื้อ 4-5% ปัจจุบันเมื่อตรวจตัวอย่างมากขึ้นพบผู้ติดเชื้อประมาณ 1% และประเทศไทยใช้การตรวจวิธี RT PCR (Real Time PCR) ค่าใช้จ่าย 2,000 กว่าบาทต่อราย หากตรวจ 100 คนพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย มีค่าใช้จ่าย 2 แสนกว่าบาท ดังนั้นจึงได้ใช้เทคนิคการตรวจแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Sample) เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนที่มีความเสี่ยงและคาดว่าจะมีการติดเชื้อไม่มาก โดยแทนที่จะตรวจ 100 ครั้งพบผู้ติดเชื้อ 1 คน แต่วิธีนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน และนำตัวอย่างมาตรวจรวมกัน หากกลุ่มใดพบเป็นบวกจะนำตัวอย่างของกลุ่มนั้นมาแยกตรวจเป็นรายบุคคล ซึ่งแทนที่จะตรวจ 100 ครั้ง ก็เหลือเพียง 20 ครั้งพบผู้ป่วย 1 คนเช่นกัน ทำให้รู้ผลเร็ว คุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจได้ 3-5 เท่า
สำหรับมาตรการผ่อนปรนที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการนั้นจะมีรายละเอียดคู่มือในการดำเนินการออกมาในหลายกิจกรรม เช่น การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ การรับประทานอาหารในร้าน การตัดผม ฯลฯ ซึ่งมีกิจการ/กิจกรรมมากมายไม่สามารถตอบในรายละเอียดได้ทั้งหมด จึงควรกลับมาทบทวนหลักการป้องกันว่าคนที่มีเชื้อแล้วจะนำเชื้อไปสู่คนที่ยังไม่ป่วยได้อย่างไร ซึ่งวิธีติดเชื้อมี 2 ส่วน คือ การที่ทำให้สารคัดหลั่งกระเด็นออกจากตัวไปสู่คนที่อยู่ใกล้ และเข้าทางปาก จมูกโดยตรง ดังนั้นถ้าท่านใส่หน้ากากให้กระชับใบหน้า ทั้งคนที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อ ซึ่งขณะนี้เราใส่กันเกือบทุกคนประมาณ 80-90% และเว้นระยะห่าง โอกาสแพร่เชื้อก็จะมีสภาพเกือบเป็นศูนย์ ส่วนที่สองคือสารคัดหลั่งอาจติดไปกับมือของคนที่มีเชื้อไปจับสิ่งของต่างๆ เชื้อจะมีชีวิตอยู่บนสิ่งนั้นระยะเวลาหนึ่ง มีข้อมูลว่าอยู่ได้หลายชั่วโมง เมื่อมือไปสัมผัสกับปาก จมูก ก็อาจติดเชื้อได้ จึงขอให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อสิ่งของ และล้างมือบ่อยๆ เป็นประจำ