นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการผ่อนปรนมาตรการด้วยการอนุญาตให้กิจการบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63 ประกอบกับปัจจุบันที่พบว่ามีประชาชนเริ่มเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้น แม้รัฐบาลจะยังขอให้งดการเดินทางข้ามพื้นที่เขตจังหวัดก็ตามนั้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการที่รัฐบาลขอความร่วมมืออย่างเคร่งครัด
"การเข้าไปใช้บริการตามสถานประกอบการทั้ง 6 ประเภทที่ได้รับการผ่อนผันนั้น ขอให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และสามารถทำกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนแล้วอย่างปลอดภัย" นพ.โสภณระบุ
สำหรับคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงประเทศต่างๆ ที่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นใหม่ โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่กระจายของเชื้อในสถานที่ที่มีลักษณะจำเพาะนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนในชุมชนจะช่วยกันได้ คือการป้องกัน แต่อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อจะกลับมาระบาดใหม่อีกรอบ เนื่องจากประชาชนมีการพบปะกันมากขึ้น และบางจุดมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ร่วมวงรับประทานอาหาร ดังนั้นการรับมือกับการระบาดรอบใหม่ จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลายจังหวัดของไทยมีการเฝ้าระวัง ค้นหา และคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนกันอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ หรือที่พักของแรงงานต่างด้าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมออกตรวจค้นหาผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ในสัปดาห์หน้า
"การระบาดรอบ 2 มักจะรุนแรงมากกว่ารอบแรก เนื่องจากประชาชนคลายความตระหนักเรื่องความสำคัญของการป้องกันโรค จากคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกรวมทั้งไทย แนะนำว่าเราไม่สามารถประมาทได้ว่าจะมี่การกลับมาระบาดของโควิดในรอบ 2 หรือไม่ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือคงมาตรการที่มีความสำคัญ และมีประสิทธิภาพไว้ เพื่อป้องกันโรค และการแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด หากทำได้ดี ก็จะไม่เห็นการระบาดในรอบ 2" นพ.โสภณกล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการระบาดในรอบที่ 1 และหวังว่าจะไม่มีการระบาดในรอบที่ 2
สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้ง 18 ราย จากศูนย์กักกันของตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการไม่มาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อย แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี และหลังจากรักษาหายดีแล้วจะมีการผลักดันให้กลับไปยังประเทศต้นทางต่อไป
ส่วนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) และพบว่ามีผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.ยะลา อีก 40 คน แต่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ ซึ่งเมื่อผลตรวจในห้องปฏิบัติการออกมาไม่พบว่ามีการติดเชื้อทั้ง 40 คน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ผู้สงสัยติดเชื้อดังกล่าวจะต้องสังเกตอาการอยู่ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด และจะนำตัวอย่างเชื้อกลับไปตรวจอีกครั้งที่แล็ปกลางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
"ดังนั้นขอให้รอผลตรวจยืนยันที่ชัดเจนอีกครั้งว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่เบื่องต้นโอกาสจะเป็นผู้ติดเชื้อน่าจะน้อย เพราะโดยทั่วไป คนที่ไม่มีอาการ เรามักจะไม่พบการติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์สูง เว้นแต่จะมีการพบผู้ป่วยต่อเนื่องจำนวนมาก และอยู่ในระยะเวลานาน" นพ.โสภณกล่าว
อย่างไรก็ดี ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการที่คลาดเคลื่อนนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุและข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญ โดยคาดว่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้ แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเมื่อมีผลตรวจที่มีความน่าสงสัยหรือผิดปกติ กระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการตรวจสอบ ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแนะนำและปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องต่อไป
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเรื่องการเดินทางไปมาหาสู่กัน การมีผู้สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า และการมีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมโรค ซึ่งภาคใต้ถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และต้องมีการค้นหาเชิงรุกอย่างมาก จึงทำให้พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมีมากขึ้น แต่คาดว่าเมื่อได้มีการดำเนินการด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับ
ส่วนสัญญาณการเกิดการระบาดรอบสองนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจว่ามีมากขึ้นหรือไม่ในสัปดาห์ถัดไป หลังจากที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.
"สัญญาณคือการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินหายใจมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่โรคโควิด-19 เท่านั้น เช่น การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่...หน่วยงานต่างๆ จะเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่จะมีโอกาสพบ และตรวจหาว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรค และจะติดตามจำนวนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ดูเปอร์เซ็นต์ของคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 จากจำนวนที่ส่งตรวจทั้งหมด และดูพฤติกรรมประชาชนว่ายังป้องกันตนเองเข้มงวดหรือไม่ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างเมื่อเข้าไปในชุมชน สัญญาณที่ชัดเจนและเป็นตัวสะท้อน คือจำนวนผู้ป่วย ถ้าหากกลับมาเพิ่มขึ้นในสั้ปดาห์ต่อไป จะต้องรีบค้นหาสาเหตุและทบทวนว่ามาตรการใดมีจุดอ่อน เพื่อเสริมมาตรการให้เข้มแข็งมากขึ้น หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนกำลังจับตาดู เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประเมินผลเป็นระยะ และอย่างต่อเนื่อง" นพ.โสภณระบุ