นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจตัวอย่างเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากประชาชนในจังหวัดยะลาที่เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนจำนวน 40 ตัวอย่างโดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าผลเป็นลบ ส่วนผลตรวจจากห้องแล็ปในพื้นที่ จ.ยะลา ที่ได้ผลเป็นบวกนั้นมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้รายงานไปยังยะลาให้ได้รับทราบผล เพื่อนำไปประกอบกับการซักประวัติทั้ง 40 คนเพื่อประมวลผลอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่จองกรมและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ลงพื้นที่ จ.ยะลาเพื่อตรวจสอบสาเหตุและสถานที่ปฏิบัติงานจริง ไม่ได้พบความผิดพลาดที่เป็นประเด็นสำคัญ (major error) แต่พบว่ามีบางสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุง เนื่องจากจ.ยะลาเป็นจังหวัดแรกที่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรวจมาแล้วกว่า 4 พันตัวอย่าง ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ระดับหนึ่งหลังจากพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากมาเลเซีย ซึ่งพบว่าภาระงานค่อนข้างมาก โดยการค้นหาผู้ปวยเชิงรุกชุมชนทำให้ต้องตรวจตัวอย่างกว่า 700-800 ตัวอย่างต่อวัน สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือภาระงานมากหากตรวจมากเกินไปจะต้องส่งตัวอย่างไปที่แล็ปอื่น และ ต้องเพิ่มเครื่องมือให้ตรวจได้มากขึ้น
นพ.โอภาส ยังเปิดเผยความคืบหน้าของพัฒนาวัคซีนว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเร่งพัฒนาเพื่อนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยก็เช่นกันนักวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาก็ได้ร่วมมือกัน โดยปัจจุบันโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ฉีดเข้าไปในหนูทดลองพบว่ามีแอนตี้บอดี้ขึ้นมาค่อนข้างดีเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าอาจจะไม่ทันหลายประเทศแต่ก็เป็นอีกแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปได้