(เพิ่มเติม1) COVID-19: ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ยอดรวมพุ่งแตะ 3 พันราย/รอ คกก.โรคติดต่อฯ เคาะปลดล็อกจีน-เกาหลีใต้

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2020 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 3,000 ราย ขณะที่มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 12 ราย ทำให้มีจำนวนผู้รักาหายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,784 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 55 ราย

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 8 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน อ.บันนังสตา จ.ยะลา 3 ราย โดยรายแรกเป็นเพศชาย อายุ 45 ปี และชายอีก 2 ราย อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่เดินทางมาจากมาเลเซีย และส่วนอีก 5 รายมาจากศูนย์กักกัน อ.สะเดา จ.สงขลา โดยเป็นแรงงานต่างด้าวเพศหญิงทั้งหมด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเกณฑ์สอบสวนโรคไปตามสถานการณ์เพื่อให้สามารถค้นหาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น โดยให้ดูจากอาการ ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือลำบาก ป่วยปอดอักเสบ และไม่ได้กลิ่น แล้วพิจารณาร่าวกับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มีประวัติเดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรค, ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก, ไปในสถานที่ชุมชน หรือมีการรวมกลุ่มคน, สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน, แพทย์สงสัยว่าติดเชื้อ

สำหรับการรายงานการกระจายตัวของผู้ป่วย จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 25 จังหวัด ส่วนอีก 43 จังหวัดไม่พบผู้ป่วย โดยเฉพาะทุกพื้นที่ภาคเหนือ และอีก 10 จังหวัดที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วยเลย

ส่วนการตรวจสอบของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในจังหวัดยะลานั้นถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีการตรวจสอบซ้ำหากพบความผิดปกติเพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยอีกต่อไป ซึ่งในกระบวนการนั้นจะมีการตรวจสอบกันเองเพื่อเกิดความมั่นใจทั้งผู้รักษาและผู้ป่วยว่าจะไม่ติดเชื้อ

สำหรับการตรวจสอบสถานประกอบการ 6 ประเภทที่ได้รับการผ่อนปรนจำนวน 15,414 แห่ง พบว่ายังไม่ปฏิบัติตามมาตรการหลักในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 จำนวน 421 แห่ง โดยเฉพาะตลาด ร้านค้าปลีก ซึ่งขอให้ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งภาครัฐไม่ได้ต้องการที่จะไปลงโทษใคร แต่อยากให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและประชาชนที่มาใช้บริการ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็จะมีการสั่งปิดกิจการเพื่อให้กลับไปปรับปรุงเมื่อมีความพร้อม โดยประชาชนสามารถเสนอแนะต่อศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงได้ที่สายด่วน 1138 และ 191

ส่วนช่วงเคอร์ฟิวที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานจำนวน 556 คน ตักเตือนไป 56 คน โดยยังพบการชุมนุมมั่วสุมเพื่อดื่มสุรา เล่นการพนัน และเสพยาเสพติด แต่ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

โฆษก ศบค.กล่าวถึงการเสนอถอนรายชื่อประเทศจีน และเกาหลีใต้ออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีเขตโรคติดต่ออันตรายว่า เป็นข้อเสนอของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ต่อที่ประชุม ศบค. แต่ยังมีขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนจนกว่าจะให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเป็นผู้ตัดสิน และยังไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบ เพราะขณะนี้ยังมีมาตรการจำกัดเที่ยวบิน การทำเอกสารรับรองทางการแพทย์ (fit to fly) และการกักตัวอีก 14 วัน ซึ่งคงเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องคิดหนักหากจะเดินทางเข้ามาในช่วงนี้ แต่ในระยะยาวคงต้องกลับสู่ภาวะปกติที่ภาครัฐจะดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับคนไทย

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ประเทศไทยใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ชุดแรกมี 4 ประเทศนอกราชอาณาจักไทย ที่ถูกประกาศเป็นเขตติดโรค ไม่ว่าจีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี เป็นช่วงที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก เมื่อการประชุมก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้มีการประกาศเพิ่มอีก 5 ประเทศ รอบบ้านเราในอาเซียน เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ขณะที่ที่ประชุมวันนี้มีคำถามว่าถึงเวลาที่จะปลดรายชื่อ 4 ประเทศในชุดแรกหรือยัง เพราะเห็นว่า จีน เกาหลีใต้ เริ่มควบคุมได้แล้ว แต่อิตาลี อิหร่าน ยังไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อฯ จึงยังไม่ปลดรายชื่อทั้ง 4 ประเทศออกจากเขตติดโรค คงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะ เพราะยังไม่แน่ใจว่ากรณีของอิตาลี เมื่อคลายล็อกแล้วจะกลับมาระบาดรอบ 2 หรือไม่ จึงขอให้ใจเย็นๆ ติดตามสถานการณ์ให้มั่นใจเสียก่อน เพราะอย่างไรก็ตามในระยะ 1 เดือนนี้สำนักงานการบินพลเรือนยังยืนยันว่าจะปิดน่านฟ้าไปก่อนจึงยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้ามา

นอกจากนั้น ขณะนี้ทางการอยู่ระหว่างวางแผนคลายล็อกกิจการกลุ่มสีเขียว หลังจากคลายล็อกกลุ่มสีขาวไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าหาก 14 วันประเมินแล้วสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนน่ากลัว ประชาชนให้ความร่วมมือทำตามมาตรการคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อนั้นกิจการที่ตามมาคือ กลุ่มสีเขียวจะได้รับการพิจารณาให้เปิดได้

ดังนั้น ขณะนี้การสกัดกั้นเชื้อจากต่างประเทศเราทำได้ดีมาก ตรวจพบผู้ติดเชื้อใน State Quarantines หรือ Local Quarantines ศูนย์กักกันเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งเมื่อถูกจำกัดบริเวณก็ไม่สามารถไปแพร่เชื้อในชุมชนได้ เหลือแต่ว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อในระดับชุมชน คือ ต้องอยู่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย เว้นระยะห่าง กำชับตรงนี้ให้ทุกคนช่วยกันปฎิบัติ ส่วนการแย่งกันซื้อสินค้า ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ไม่ดี

ทั้งนี้จากผลสำรวจของกรมควบคุมโรคในครั้งที่ 8 ภายหลังมีมาตรการผ่อนปรนระยะแรก ปรากฎว่า การล้างมือ ยังรักษาระดับไว้อยู่ที่ 92% ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การใส่หน้ากากอนามัยลดลงเหลือ 75% จากที่เคยทำได้สูงถึง 94% ขณะที่การเว้นระยะห่างเคยขึ้นไปถึงกว่า 80% แต่วันนี้ลงมาอยู่ที่ 78%

"ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราอยู่ในระยะผ่อนปรน ในกิจกรรมที่เป็นสีขาว ซึ่งมี 6 ประเภทกิจการ และอาจมีบางประเภทที่เราไม่ให้เปิด แต่ทั้งนี้การกลับมาเปิดใหม่หลังปิดชั่วคราว 1 เดือน ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเจ้าของกิจการ ผู้รับบริการจะต้องช่วยกัน ทุกวันนี้เห็นรถวิ่งบนถนนมากขึ้น ขณะเดียวกันมีคนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น สิ่งที่เราแนะนำให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ Work from Home กำลังจะลดลง ดังนั้นต้องขอความร่วมมือจากองค์กรใหญ่ หน่วยงานราชการ สนับสนุนให้ WFH และสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือออกจากบ้านเมื่อจำเป็น ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปอยู่ในพื้นที่แออัด เว้นระยะห่างถึงจะปลอดภัย"นพ.อนุพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ