เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ด้วยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 และเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้นายจ้างกับลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเคร่งครัด ถ้าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเกิดขึ้นในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร หรือกิจการประเภทใดประเภทหนึ่งให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น ได้รับการชี้ขาดจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
ข้อ 3 ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ข้อ 4 ในกรณีที่มีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน อยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ
ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นการป้องกัน หากมีกรณีข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แล้วนำไปสู่การปิดงานหรือการนัดหยุดงาน หรือการชุมนุมประท้วงด้วยการไม่เข้าทำงาน ซึ่งเป็นกลไกการต่อรองข้อเรียกร้องระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน อันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ นิยามของ"การปิดงาน" ไม่ใช่การเลิกกิจการ หรือการปิดกิจการ หรือการหยุดกิจการชั่วคราว แต่หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ขณะที่นิยาม ของ"การนัดหยุดงาน" หมายถึงการที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน