นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 จาก 134 ส่วนราชการ คิดเป็น 94% ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ สรุปข้อมูลได้ดังนี้
1.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (การปฏิบัติงานที่บ้าน)
ส่วนราชการ 100% (134 ส่วนราชการ) ที่รายงานมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนราชการ 60% (80 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ 50% ขึ้นไป ปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.63 เป็นต้นมา
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ปฏิบัติงานที่บ้าน คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีสถานที่พักอาศัยห่างไกลจากสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะในเดินทางไปกลับระหว่างสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ
2. การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานกรณีจำเป็นต้องปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน ช่วงเวลา 07.00-15.00 น. และ 07.30-15.30 น.
3. ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชนงานรักษาพยาบาล งานควบคุมผู้ต้องขัง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ งานควบคุมการจราจรทางน้ำ และลักษณะงานในตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น
ขณะที่มีข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งในระยะแรก ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นในการปฏิบัติงาน ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ เป็นต้น
โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การพัฒนาระบบโปรแกรมกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เช่น ระบบงานสารบรรณ ระบบการประชุมออนไลน์ เป็นต้น และการจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ในระยะต่อไป ทางสำนักงาน ก.พ. จะติดตามและรายงานเกี่ยวกับผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า จากการใช้แนวทางการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยอาจกำหนดตัวชี้วัดในเรื่องของ ความสำเร็จของงานตามเป้าหมาย การลดค่าใช้จ่ายสำนักงานเช่นด้านสาธารณูปโภค ความสามารถในการนำระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงาน การเรียนรู้และพัฒนาความสามารถ และความพึงพอใจในคุณภาพงาน คุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมในภาพรวมต่อไป
ส่วนราชการพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ หากเห็นว่า มีลักษณะงานบางอย่างที่สามารถปรับวิธีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการได้ ก็อาจกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงมาตรฐานการทำงาน ทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ไม่มีสิ่งรบกวนการทำงาน หรือความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของทั้งข้อมูลการทำงานและตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย
สำหรับกรณีที่ลักษณะงานบางอย่างยังคงจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ส่วนราชการควรกำหนดแนวทางดำเนินการที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยตามมาตรการทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญกับ การจัดการจำนวนคนที่มาปฏิบัติงาน การจัดการระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดรูปแบบกิจกรรมหรือระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิสัมพันธ์กัน การจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนหรือทดแทนกำลังคน โดยสำนักงาน ก.พ. จะประสานงานและขอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรฐานแนวทางปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเริ่มรณรงค์แนวทางชีวิตวิถีใหม่ด้วยการทำงานจากที่บ้าน (Work form Home:WFH) ซึ่งได้พูดกันมาเป็นปีแล้วแต่ไม่มีแรงจูงใจ ตอนนี้มีปัจจัยแล้ว โดยจะเริ่มรณรงค์ผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง หากกิจการใดต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำควรรับเงื่อนไขนี้ไปด้วย
ทั้งนี้ส่วนใหญ่ได้เริ่มมาตรการทำงานจากที่บ้านกันแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของงานที่เป็นเอกสาร แต่งานด้านบริการประชาชนตามสำนักงานเขตไม่สามารถทำได้ และมีรัฐวิสาหกิจจำนวนไม่น้อยที่ทำงานที่บ้านเกิน 80% อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แต่กลุ่มที่ปฏิบัติได้ไม่มากจะเป็นกลุ่มธนาคารที่ต้องให้บริการประชาชน
ขณะที่มาตรการทำงานเหลื่อมเวลาในส่วนของภาครัฐเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น สำนักงานก.พ. ได้รายงานว่าหน่วยงานราชการทำเรื่องเหลื่อมเวลาเป็นส่วนใหญ่ในเวลา 07.00 น.และ 08.00 น.ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการเพิ่มเติมให้เหลื่อมเวลามากกว่านี้ โดยสามารถเลิกงานค่ำก็ได้เพื่อลดความแออัดในการเดินทาง ส่วนจะเป็นกี่ชั่วโมงนั้นให้หน่วยงานนั้นๆ พิจารณา
ในส่วนของรัฐวิสาหกิจขณะนี้มีทั้งสิ้น 56 แห่ง ทำเรื่องเหลื่อมเวลากัน 7 เวลา ตั้งแต่ 07.00-10.00 น. โดยเหลื่อมกันช่วงละครึ่งชั่วโมง คนที่เข้า 10.00 น.จะไปเลิก 18.00 น.
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไป และให้ดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ประสิทธิภาพการทำงานว่าดีหรือไม่
ส่วนการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขยายไปกิจกรรมใดบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน และมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งตนเองไม่ได้เป็นกรรมการในชุดดังกล่าว เพียงแต่เมื่อจะผ่อนปรนอะไรจะส่งมาให้ตนเป็นผู้เขียนคำสั่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีส่งอะไรเข้ามา ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรตนยังไม่ทราบ