คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดตัว "Skan & Go ต้านโควิด by ศิริราช" โปรแกรมเก็บข้อมูลการเดินทางด้วยการเช็คอินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด แจ้งเตือนพื้นที่และบุคคลกลุ่มเสี่ยง ด้วยการอัปเดตข้อมูลการเดินทางผ่านโทรศัพท์มือถือ ใช้งานง่าย และยังช่วยให้แพทย์ทราบประวัติการเดินทางย้อนหลัง 14 วัน เมื่อไปตรวจหาโควิด-19 โดยเก็บข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไว้เป็นความลับ
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราช ได้เตรียมรับมือไม่ให้เกิดวิกฤตโควิด - 19 รอบที่สองในประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวโครงการ "Skan & Go ต้านโควิด by ศิริราช" ซึ่งจะช่วยให้แพทย์รู้ข้อมูลเบื้องต้นและง่ายต่อการคัดกรองผู้ป่วยโควิด เพื่อให้ผู้มาใช้บริการทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
"Skan & Go ต้านโควิด by ศิริราช เป็นโปรแกรมเก็บบันทึกประวัติการเดินทางของประชาชนในสถานที่ต่างๆ ในช่วง 14 วัน ออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ซึ่งขั้นตอนการใช้งานมีเพียง 2 ขั้นตอนง่ายๆ เพียงเปิดกล้องโทรศัพท์มือถือ สแกนไปที่คิวอาร์โค้ด (QR Code) ของ Skan & Go หรือพิมพ์ www.thaicovids.com ที่บราวเซอร์ กดยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน กรอกหมายเลขโทรศัพท์ รับรหัส OTP โปรแกรมจะแจ้งสถานะของสถานที่ให้รู้ทันที สัญลักษณ์สีเขียว หมายถึงปลอดภัย สีส้มหรือสีแดง หมายถึงเคยมีผู้ติดเชื้อมาในบริเวณนี้"
"ในการใช้งานครั้งต่อไปเพียงเปิดกล้องถ่ายรูปแล้วสแกนคิวอาร์โคดของ Skan & Go ของแต่ละสถานที่ก่อนเข้าไปใช้บริการ ทุกครั้งที่สแกนเช็คอิน ระบบจะบันทึกข้อมูลการเดินทางในช่วง 14 วันไว้ในโทรศัพท์มือถือโดยอัตโนมัติ และในอนาคต หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เคยไปสถานที่นั้น ๆ ระบบจะแจ้งเตือนไปยังทุกคนที่เคยไปในสถานที่ดังกล่าวในช่วงวันและเวลาใกล้เคียงกันพร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเอง" รศ.นพ. นริศ กล่าว
รศ.นพ.นริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นและข้อดีของ Skan & Go คือนอกจากจะตอบโจทย์ทางการแพทย์แล้วยังเป็นเครื่องมือช่วยควบคุมโรค ด้วยการประเมินสถานที่เสี่ยงและบุคคลกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น โดยให้ประโยชน์ครอบคลุม 4 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ใช้โปรแกรมหรือประชาชนทั่วไป ซึ่งการออกแบบให้ใช้งานง่ายทุกกลุ่มและมีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชน ดังนั้น ข้อมูลจากการสแกนจะถูกเก็บในมือถือโดยเป็นความลับเฉพาะบุคคล
2. เจ้าของสถานที่ ซึ่งสามารถสร้างคิวอาร์โคดจากโปรแกรมนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วนำไปติดไว้หน้าบ้านหรืออาคารสถานที่ให้บริการต่างๆ สถานที่ที่ยังไม่มีความเสี่ยงก็สามารถเปิดดำเนินการได้ ส่วนสถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังก็จะมีการบริหารจัดการในเชิงป้องกันการระบาดได้ดีขึ้น ทำให้เจ้าของสถานที่และประชาชนผู้ใช้บริการสถานที่ดังกล่าวมีความมั่นใจ ไม่ต้องล็อคดาวน์เมืองทั้งเมืองมีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น
3. หน่วยงานควบคุมโรค ช่วยในการบริหารจัดการและควบคุมพื้นที่เสี่ยงรวมทั้งประเมินประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ดีขึ้น ช่วยให้การแก้ปัญหามีเป้าหมายและตรงจุด การควบคุมโรคเป็นตามพื้นที่และเฉพาะกลุ่ม
4. แพทย์ผู้วินิจฉัยโรค กล่าวคือแพทย์สามารถที่จะนำข้อมูลการเดินทางจากการสแกนของผู้ป่วยโควิด-19 อย่างละเอียดโดยไม่ต้องซักประวัติและสามารถเตือนประชาชนและเจ้าของสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงนั้นได้ด้วย