COVID-19นายกฯ สั่งศึกษาเปรียบเทียบพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกับกม.ปกติ เพื่อใช้ตัดสินใจขยายเวลา-ยกเลิกในระยะต่อไป

ข่าวทั่วไป Friday May 15, 2020 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สั่งการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย และศูนย์ปฏิบัติการที่ เกี่ยวข้องใน ศบค. ศึกษาเปรียบเทียบความจำเป็นในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับกรณีหากใช้กฎหมายปกติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้กับคณะกรรมการ ศบค.ในการประกาศ ขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินใน ระยะต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จนกว่าจะถึงห้วงเวลาที่มีวัคซีนรักษาโรค เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารสถานการณ์ และเตรียมการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในระยะยาวของประเทศ และเป็นชุดข้อมูลแบบจำลองในการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเป็นทางการของ ศบค. เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการวิเคราะห์ผลกระทบ และกำหนดมาตรการในด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แต่งตั้งขึ้นโดยหัวหน้าสำนักประสานงานกลางเป็นประธาน ประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมหลัง จากได้มีมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม เพื่อประกอบการเสนอมาตรการผ่อนคลายในระยะต่อไปโดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการในข้อกำหนด ฉบับที่ 3 และ ฉบับที่ 5 มาพิจารณาประกอบกับผลการตรวจประเมินกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายตาม ข้อกำหนด ฉบับที่ 6 เพื่อจัดทำแนวทางการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม และร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก

รวมทั้งสั่งการให้นำแพลตฟอร์มแอพพลิเคชัน "ไทยชนะ" ที่ ศบค. พัฒนาขึ้นมาใช้สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ได้กำหนด โดยให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และสร้างความ เข้าใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ โดยเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นที่รัฐต้องนำเทคโนโลยีใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อปกป้องชีวิต และให้ความปลอดภัยกับประชาชน ดังที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว

ตลอดจนสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานการเตรียมความพร้อมสำหรับกำหนดการเปิดภาคเรียนในเดือน ก.ค.ในการประชุมครั้งต่อไป และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมแก่โรงเรียนต่างๆ

นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศควบคุมการเข้าประเทศทางอากาศตามมติที่ประชุมของ ศบค. ที่อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศเพิ่มจาก 300 คน เป็น 400 คนต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศกับทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ รวมถึงขีดความสามารถในการกักกันในสถานที่ของรัฐแบบ State Quarantine ที่จะต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยให้นำผู้เดินทางเข้าประเทศทุกรายกักกันในสถานที่ของรัฐแบบ State Quarantine และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคของทางราชการโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเดินทางกลับประเทศเพื่อนบ้านในระยะนี้ ต้องมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันตรวจสอบการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การตัดสินใจเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 เป็นความจำเป็นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็เป็นความกังวลใจที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 (Second wave) ดังนั้น นอกจากการใช้มาตรการบังคับ ขอให้ระดมความร่วมมือจากภาคสื่อสารมวลชนทั้งหมดในสังคมในการให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับ ให้สื่อมวลชนรับชุดข้อมูลเดียวกัน และช่วยรัฐบาลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมกลไกและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ

ตัวอย่างเช่น การให้ข้อมูลการคาดการณ์ว่าหากรัฐไม่ดำเนินมาตรการเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ประมาณการผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะสูงเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับ ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือทุกฝ่าย และการเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 หากไม่ดำเนินมาตรการควบคุมตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อจะเป็นเท่าใด เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี เชื่อว่ามาตรการทางสังคมจะช่วยให้การดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างราบรื่น สังคมจะช่วยกันสอดส่อง ต่อต้านผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม ขอให้สังคมไทยยึดมั่นในความดี แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน

พร้อมทั้งมีข้อสั่งการในการก้าวเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ว่า ให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงออกแบบวางแผนการทำงาน ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ให้ไปศึกษาสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมไว้รองรับ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลสถานประกอบการ ได้แก่ โรงแรม ซึ่งเป็นประเภทของกิจการที่ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เช่น การบริการ อาหาร แรงงาน การประกาศให้งดจัดอบรม สัมมนา ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ ขอให้หน่วยงานไปพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ