นายวัชรา พุกโพธิ์ นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (CFP) เปิดเผยในสัมมนาออนไลน์ Money Buddy in COVID-19 EP.3 "จัดการประกันชีวิตอย่างไรในยุคโควิด-19" ว่า ประกันสุขภาพทั่วไปจะครอบคลุมโรคโควิด-19 อยู่แล้ว เนื่องจากการเป็นคนไข้นอกและคนไข้ในไม่ได้จำกัดโรค หากป่วยเป็นคนไข้ในด้วยโรคโควิด-19 ก็เข้ารับการรักษาได้
แต่หากต้องการจะทำประกันโควิด-19 โดยเฉพาะ จะมีด้วยกัน 4 กลุ่ม ได้แก่ เบิกค่ารักษาพยาบาลจากการติดไวรัส บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เอาประกันตามที่รักษาจริง โดยต้องมีรักษาใบเสร็จค่ารักษา ร่วมกับใบรับรองแพทย์, เบิกค่าชดเชยกรณีตรวจพบไวรัส บริษัทประกันจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกัน เมื่อมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าตรวจพบเชื้อไวรัส,
กรณีเบิกเงินเชยรายได้จากการเป็นคนไข้ใน กรณีติดไวรัส บริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชย กรณีต้องนอนพักรักษาตัวจากการติดเชื้อที่โรงพยาบาล โดยจะจ่ายให้ตามจำนวนที่นอนพักรักษาตัว และ กรณีเจ็บป่วยขั้นรุนแรงจากไวรัส บริษัทประกันจะจ่ายเมื่อผู้เอาประกันเจ็บป่วยเข้าสู่ภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตาย หรือเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าว
"เรามีประกันสุขภาพอยู่แล้ว หรือมีสิทธิประกันสังคมอยู่ ก็สามารถซื้อประกันโควิด-19 เข้ามาเสริมอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรเพิ่มเติม หรือต้องตอบให้ได้ก่อนว่าคุณต้องการอะไรเพิ่มเติม"นายวัชรา กล่าว
ด้านเทคนิคการเลือกซื้อแบบประกันภัย แนะนำ 4 เทคนิคการเลือกซื้อ ได้แก่ เลือกความคุ้มครองให้ตรงกับความต้องการ, เลือกบริษัท เพื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์และราคา/ชื่อเสียง/การให้บริการ, ต้องสามารถชำระเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดสัญญา และต้องแน่ใจว่าจะถือกรมธรรม์ไว้จนครบกำหนดสัญญาได้
นางสาวอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (CFP) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทางภาครัฐดูแลประชาชนด้วยการรออกค่าใช้จ่ายให้ภายใต้สวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตรทอง, สิทธิประกันสังคม และ ประกันสุขภาพ
สำหรับสิทธิประกันสังคม กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอก ค่าตรวจ ค่าอุปกรณ์ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ครั้งละไม่เกิน 540 บาท ส่วนประเภทผู้ป่วยใน ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษาตามมาตรฐานและค่าอาหารไม่เกินวันละ 2,500 บาท, ค่าบริการทางการแพทย์คำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ในอัตรา 12,000 บาท, ค่ายาต้านไวรัสไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย, ค่าตรวจทางห้องปฎิบัติการ ไม่เกินครั้งละ 2,500 บาท และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตามอาการผู้ป่วย กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง จ่ายไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด กรณีอาการรุนแรงจ่ายไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด
ส่วนกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานฯ จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนที่ป่วย สำนักงานฯ จ่ายให้สถานพยาบาลเอกชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังจ่ายค่าพาหนะ ในกรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท, ต่างท้องที่จังหวัดอื่นจ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง รวมถึงกรณีที่สำนักงานฯ เห็นว่าผู้ประกันตนสมควรได้รับค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือจากที่กำหนด สำนักงานฯ จะต้องจ่ายภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการแพทย์
พร้อมกันนี้หากต้องการซื้อประกันเพิ่ม อันดับแรกให้ดูว่า ต้องการคุ้มครองอะไร เช่น ต้องการค่ารักษาพยาบาล, เงินชดเชยรายวัน, ค่าชดเชยกรณีตรวจพบการติดเชื้อ หรือกรณีเสียชีวิต
นางสาวอุมาพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ประกันตนที่ซื้อประกันไปแล้วส่งประกันไม่ไหว แนะนำให้กลับมาถามตัวเองก่อนว่าต้องการอย่างไร หากต้องการความคุ้มครอง ก็สามารถขอเปลี่ยนงวดการส่งเบี้ยประกันชีวิตได้, ให้กรมธรรม์กู้จ่ายอัตโนมัติ, ขอลดทุนประกันชีวิต, การใช้มูลค่าเงินสำเร็จ, การขยายเวลาคุ้มครอง และ Premlum Hollday (กรณียูนิตลิงค์) แต่หากต้องการสภาพคล่องเป็นหลัก ก็สามารถขอกู้กรมธรรม์ (มีดอกเบี้ย), ขอถอนเงินออกบางส่วน (กรณียูนิตลิงค์) และการเวนคืนมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ได้
ขณะที่ปัจจัยในการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ได้แก่ ทุน (ความคุ้มครอง), งบประมาณ, สวัสดิการ, Life Style และความเสี่ยงการลงทุนที่รับได้
ด้านนายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ประชาชนมีการซื้อประกันภัยผ่านออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น จากเดิมจะผ่านทางนายหน้าเป็นหลัก เห็นได้จากตัวเลขปัจจุบันยอดการซื้อประกันภัยผ่านออนไลน์อยู่ที่ 8.7 ล้านกรมธรรม์ สูงขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับในอดีต และคาดว่าช่องทางออนไลน์จะได้รับการตอบรับมากขึ้น จากความนิยมเพิ่มขึ้นและมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการเข้าถึงการประกันภัยมากขึ้นนั้น คปภ.ได้ออกมาตรการเฉพาะกิจส่งเสริมการขายประกันในรูปแบบ Face to Face ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการลดหย่อนทางภาษีเงินได้สำหรับประกันชีวิตที่ระยะเวลาเอาประกันเกิน 10 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท, สำหรับประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท และสำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 200,000 บาท