SUPER POLL เผยผลสำรวจพบ 95.5%เกษตรกรถูกใจที่รับเงินเยียวยาโควิดจากก.เกษตร หวังรัฐเร่งสร้างอาชีพให้ฟรี

ข่าวทั่วไป Saturday May 16, 2020 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขเกษตรกร กรณีการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรช่วงโควิด-19กรณีศึกษาเสียงของเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.1 ระบุความจำเป็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องแจกเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 เมื่อสอบถามถึงการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงโควิด-19 ว่าถูกใจโดนใจหรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุถูกใจโดนใจ แต่ร้อยละ 4.5 ระบุไม่ถูกใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้ากระทรวงเกษตรไม่แจกเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้จะเดือดร้อนเป็นทุกข์หรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ระบุเดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ร้อยละ 8.1 ระบุไม่เดือดร้อน

นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นที่พึ่งได้ของเกษตรกร ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ระบุพึ่งไม่ได้

เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ผลักดันให้เกิดการแจกเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.1 ระบุรู้ แต่ร้อยละ 8.9 ไม่รู้

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือการใช้เงินของเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเยียวยาช่วงโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 จะใช้จ่ายค่าครองชีพ ของกิน ของใช้ประจำวัน รองลงมาคือร้อยละ 47.4 จะต่อยอดทำมาหากิน เช่น จ่ายค่าเช่าที่ทำกิน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อพันธุ์ปลา ซื้ออุปกรณ์จับปลา เครื่องมือทำมาหากินฯลฯ ร้อยละ 20.9 ระบุจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน ร้อยละ 14.1 ระบุจะเป็นค่ารักษาดูแลสุขภาพร้อยละ 13.4 ระบุจะเป็นการใช้หนี้ในระบบ ร้อยละ 11.8 ระบุจะเป็นการใช้หนี้นอกระบบ ร้อยละ 10.9จะทำบุญบำรุงพระศาสนา และร้อยละ 19.6 ระบุอื่น ๆ เช่น ค่ารถ ค่าไฟฟ้า ค่ามือถือ ค่าน้ำ เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 มีความสุขจากเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงโควิด-19 ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ไม่มีความสุข

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า เกษตรกรกำลังมีความสุขกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจกเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 ทำให้เกษตรกรนำไปใช้จ่ายค่าครองชีพในชีวิตประจำวันและการต่อยอดทำมาหากินได้ แต่ถ้ารัฐบาลเร่งออกมาตรการ "ฟรีสร้างอาชีพ" เชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับของฟรีจากศูนย์รวมชุมชนต่าง ๆไปประกอบสัมมาอาชีพไม่เป็นพิษต่อสังคมและตนเองได้ เช่น ฟรีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ฟรีอินเตอร์เนตไฮสปีด ฟรีช่องทางการตลาด ฟรีความรู้และฝึกทักษะอาชีพชั้นสูง ฟรีพลังงานแสงอาทิตย์ ฟรีน้ำบาดาลแก้ภัยแล้ง และอื่นๆ น่าจะทำให้ฝ่ายการเมืองชนะใจประชาชนทุกกลุ่มอาชีพได้ไม่ยากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ