นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ระบุว่า เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งการใช้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ จำเป็นต้องรวดเร็ว-ทันการณ์จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า อาจต้องยกเว้นกฎระเบียบสำคัญบางประการ แต่หากทำโดยไม่รัดกุม ไม่เปิดเผยอย่างโปร่งใส จนตรวจสอบไม่ได้ทั่วถึง ก็อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นง่ายและรุนแรง
ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ เพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้แก้วิกฤตโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยให้ตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
โดยคณะกรรมการตรวจสอบอิสระต้องมีความชำนาญและน่าเชื่อถือในการตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หากผู้ใดทุจริตจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงและรวดเร็วทุกกรณี โดยให้นำมติ ครม.เมื่อ 27 มีนาคม 2561 เรื่อง "มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ" มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด และให้มีการรายงานข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ให้ปรับปรุงข้อมูลให้ทันการณ์ โดยเปิดเผยบนเว็บไซต์เฉพาะกิจ
"ขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ มีมาตรการถ่วงดุลและระบบตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และเป็นอิสระ ลงโทษการคอร์รัปชันอย่างรวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะถูกยกระดับการประเมิน CPI เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกทุกฝ่ายและนานาชาติเฝ้าจับตามอง" นายประมนต์ กล่าว
ประธาน ACT กล่าวว่า การใช้เงิน 4 แสนล้านบาทจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาจมีการนำไปใช้ทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า หรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างได้ จึงอยากให้ยึดโมเดลแบบโครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น มิยาซาวาแพลน ปี 2542 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินชัดเจน และยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้อย่างอิสระ และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ มีผู้แทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่สังคมยอมรับ โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ดำเนินการภายใต้กติกาเดียวกันอย่างเคร่งครัด
"ต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่แข็งแกร่งด้วยการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ นี้ เปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างอิสระ สามารถใช้งานเพื่อการสืบค้นข้อมูลได้ง่าย" นายประมนต์ กล่าว