พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการขุดลอกคูคลองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการขุดลอกคลองตามนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลแล้ว ดังนี้ 1.คลอง 12 ความยาวคลองทั้งหมด 41.000 กม. ขุดไปแล้ว 31.0 กม. (ในปี 2562) ในปี 2563 ดำเนินการขุด 4.0 กม. ในปี 2564 มีแผนขุด 6.0 กม. 2. คลอง 13 ความยาวคลองทั้งหมด 46.880 กม. ในปี 2563 ดำเนินการขุด 4.0 กม. แผนปี 2564 - 2565 มีแผนขุด 42.880 กม. และ 3. คลองลำปะทิว ความยาวทั้งหมด 18.090 กม. ขุดไปแล้ว 6.280 กม.(ปี 2562) แผนปี 2564 มีแผนขุด 11.810 กม.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนงบกลางช่วยเหลือภัยแล้งปี 2563 ภายใต้การดำเนินการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ใน 3 ส่วนหลัก คือ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก โดยมอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาค สำรวจพื้นที่เสี่ยงในเขตประปา ส่วนนอกเขตการประปา สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งได้จัดทำแผนและมาตรการเสนอ ครม. และ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 อนุมัติงบประมาณ รวม 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วจำนวน 1,434 โครงการ วงเงิน 2,280 ล้านบาท
ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 747 โครงการ ประกอบด้วย โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล 725 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 2 แห่ง วางท่อน้ำดิบ 11 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 9 แห่ง ได้ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่ม 38.74 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 123,495 ครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาได้ 60.38 ล้าน ลบ.ม. ผู้ใช้น้ำประปา 58,567 ราย มีน้ำประปาสำรอง 0.20 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำให้มากที่สุด และเตรียมพร้อมดำเนินการตามมาตรการรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมกับให้คาดการณ์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำของแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกิจกรรม การใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุนจนสิ้นสุดฤดูฝน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาคเร่งดำเนินการจัดการคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่เกิดจากปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน สั่งการให้ทุกภาคส่วนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำรองรับช่วงฤดูฝนนี้ด้วย