นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยในการเสวนา "New normal ปรับไลฟ์สไตล์ภายหลังวิกฤต COVID-19" ว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ได้มีการแบ่งระยะวิกฤติออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไม่ปกติ หรือระยะวิกฤติทางเศรษฐกิจ, ระยะกลาง ในช่วงระหว่าง 6-12 เดือน ที่ยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเรียกว่า New Abnormal หรือระยะความผิดปกติในรูปแบบใหม่ และระยะยาว หรือ New Normal
ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ระยะที่สอง หลังหลายประเทศได้ทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จากกำลังซื้อภาคประชาชนยังจำกัด ความกังวลต่อการกลับมาระบาดรอบสอง อาจกระทบต่อธุรกิจที่เปิดดำเนินการในช่วงนี้ได้ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะต้องหาวิธี และปรับตัว ไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ต้องอยู่ให้ได้ในระยะยาว เนื่องด้วยโจทย์ของการทำธุรกิจในอนาคตจะยากขึ้น โดยเฉพาะโลกหลังโควิด-19 ยังต้องการธุรกิจดังกล่าวอยู่หรือไม่
ขณะที่มองหลังวิกฤติโควิด-19 จะเป็นบททดสอบความจำเป็นในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจจะต้องตั้งคำถามว่า ธุรกิจของตนยังมีความจำเป็นของผู้บริโภคอยู่หรือไม่ ซึ่งธุรกิจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่าอยู่ที่นี่เพื่ออะไร และให้มูลค่าเพิ่มกับลูกค้าได้อย่างไร เช่น เดิมทำธุรกิจร้านกาแฟที่ขายประสบการณ์การดื่มกาแฟที่ร้าน อาจจะขยายหรือเพิ่มประสบการณ์ไปในช่องทางอื่น ๆ อย่างการสอนทำกาแฟ การให้ความรู้เรื่องกาแฟ ในรูปแบบ Live Stream
ทั้งนี้ แนะธุรกิจที่ยังมองไม่เห็นมูลค่าเพิ่ม ให้ดูจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง, ศึกษาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป, คิดนอกกรอบ รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ดีในการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และใช้เวลานี้พัฒนาทักษะพนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น ฝึกการขายออนไลน์ เป็นต้น
สำหรับนโยบายการรับมือผลกระทบโควิด-19 สิ่งที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ เช่น การสื่อสาร นโยบาย มาตรการรองรับ อย่างมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือการจ่ายค่าจ้างพนักงานให้แก่บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่ถูกผลกระทบถึง 80-90% เพื่อให้บริษัทไม่ดำเนินการไล่พนักงานออก, จ้างพนักงานที่ตกงาน มาช่วยในโรงพยาบาล หรือสาธารณสุข, การร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุนเงินช่วยเหลือในการจ้างงานเพิ่ม โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ เป็นต้น รวมถึงเรียนรู้มาตรการรองรับการกลับมาระบาดรอบสอง เห็นได้จากในต่างประเทศที่มีการกลับมาระบาดรอบสอง มีความรุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งการทยอยปลดล็อกดาวน์ ก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย
ส่วนจุดเด่นของไทย ที่หลาย ๆ ประเทศสามารถนำไปใช้ได้ คือ เครือข่ายทางสังคม หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีความแข็งแกร่ง และสามารถควบคุมโรคได้ดีมาก
นายรวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อองค์กรเอกชน สังคม และประชาชนค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วพฤติกรรมของคนจะกลับไปสู่วัฒนธรรมเดิม โดยเฉพาะการรับประทานในร้านอาหารร่วมกัน ขณะที่พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การช็อปปิ้งผ่าน e-commerce จะยังมีอยู่ต่อไป แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับโควิด-19 จะอยู่กับสังคมเป็นเวลานานหรือไม่ ถ้านานมากก็อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคได้
โดยการรับมือจากวิกฤติโควิด-19 ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับแผนการดำเนินงานในหลายด้าน โดยเฉพาะการหันมาขายสินค้าผ่านช่องทาง e-commerce มากขึ้น หลังการขายผ่านหน้าร้านได้รับผลกระทบโดยตรงหลังห้างสรรพสินค้าปิดให้บริการชั่วคราว และทำโปรแกรมการสั่งของ การกระจายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าที่อยู่ตามต่างจังหวัด (Modern Trade) เพื่อสร้างความโปร่งใสทางธุรกิจ, เห็นถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทำให้มองว่าเครื่องมือที่จะสามารถออกจากวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ดิจิทัล
อย่างไรก็ตามแนะธุรกิจอื่นๆ หลังจากวิกฤติโควิด-19 จะต้องกลับมาถามตัวเองแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป และมองว่าลูกค้าต้องการอะไร โดยจะต้องลงไปในพื้นที่จริง ทดลองจริงว่าไอเดียโอเคหรือไม่ ก็จะทำให้ได้ Business Model ใหม่
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ (ปฎิบัติการแทนผู้อำนวยการ) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ETDA Thailand กล่าวว่า ETDA ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกันกับภาคเอกชน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับภาคประชาชนมากเกินไป เช่น การเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปอีก 1 ปี จากเดิมวันที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันนอกจากการปรับตัวที่รวดเร็วขึ้น ETDA ก็มีการปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมใช้อำนาจค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันได้ปรับมาเป็นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer centric) โดยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆจากทางภาครัฐมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ยกเว้นการทำเรื่องของครอบครัว เช่น เรื่องมรดก, การสมรสและการหย่า เป็นต้น
พร้อมกันนี้มองธุรกิจที่จะถูก Disruption หลังผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้องกัน จากข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางของคน, ธุรกิจการผลิต ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อม, ธุรกิจที่เข้าถึงลูกค้าทางกายภาพ เช่น ธุรกิจการบิน ที่เกี่ยวกับทางท่องเที่ยว แนะทางรอด โดยเฉพาะในธุรกิจการผลิต คือ การลดคน และใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย เพื่อลดโอกาสการถูก Disruption, การเพิ่มคู่ค้าไปในหลายประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ
"การปรับให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงาน รวมถึงความสามารถในการปรับตัว จะต้องปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งหากเดิมไม่มีเทคโนโลยีเลย เราก็ต้องรีบหาพันธมิตรมาช่วยดำเนินการ โดยธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ สายป่านไม่ยาวพอ ไม่เคยใช้เทคโนโลยี จะทำให้เราอยู่ข้างหลังและไปไม่รอด" นายชัยชนะ กล่าว