นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานมีมติต่ออายุพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค.63 ออกไปอีก 1 เดือน ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมอบหมายให้ สมช.ไปพิจารณาปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิวในช่วงที่มีการผ่อนปรนมาตรการ ระยะที่ 3 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะปรับเวลาจาก 23.00-04.00 น. เป็น 24.00 น-04.00 น. ซึ่ง สมช.จะไปพิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้
พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ต้องการให้ผ่อนปรนมาตรการมากขึ้นในระยะที่ 3 ซึ่งเตรียมพิจารณาทั้งเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด การท่องเที่ยวชุมชม การเปิดให้เข้าพักโรงแรมต่าง ๆ ได้ แต่จะเปิดให้บริการเฉพาะห้องพัก แต่ห้ามใช้สระน้ำ หรือจุดที่จะเป็นการรวมคน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนไปพร้อมกันด้วย
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความพอใจต่อสถานการณ์หลังผ่อนปรนมาตรการ ระยะที่ 2 แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการเปิดเรียนในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากเห็นตัวอย่างการเปิดโรงเรียนในต่างประเทศแล้วกลับมาระบาดมากขึ้น จึงได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะไม่อยากให้ผู้ปกครองเกิดความกังวลด้วย
สำหรับกรณีพบความย่อหย่อนในมาตรการสาธารณสุขของกองถ่ายรายการต่าง ๆ นั้น นายอิทธิพล กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมแม้จะพบข้อบกพร่องบ้าง โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง แต่ในภาพรวมยังสามารถดูแลและปฎิบัติตามข้อกำหนดของสาธารณสุขได้ดี
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวถึงเหตุผลในการประกาศขยายเวลาใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้พ.ร.ก.นี้ เพราะต้องการเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
"กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่เอาพ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผลนะครับ ไม่เพียงพอครับ ต้องมีการประกอบกฎหมาย 40 กฎหมายอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้ เพราะมันจะเชื่อมโยงถึงการเดินทางเข้ามาในต่างประเทศ พูดถึงการเคลื่อนย้าย การใช้พาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง จิปาถะอีกมากมาย... กฎหมาย ต้องเป็นเอกภาพและรวดเร็ว นั่นคือความสำคัญของพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี่มาทำให้เกิดเอกภาพ"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
2. เป็นการเตรียมรองรับในระยะต่อไป เพราะตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างผ่อนปรนระยะที่ 2 ต่อไปคือระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับระยะที่ 1 และ 2 เสี่ยงเรื่องสาธารณสุขคือเรื่องติดเชื้อ
"ระยะที่ 1 และ 2 ยังเห็นตัวเลขเป็น 0..1..2 เป็นหลักหน่วย แต่เมื่อไหร่ที่ปรับเป็นระยะ 3 และ 4 กิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงจะเปิด พอมีความเสี่ยงสูง ถ้าตัวกำกับหย่อนลงจะให้ยกเลิกพ.ร.ก.แต่พฤติกรรมความเสี่ยงสูงกลับมา สิ่งนี้ไม่สมดุลกันไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุล จำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมายเพื่อบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการผ่อนคลายในระบบที่มีระยะเวลาที่เหมาะสม"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เหตุผลที่ 3 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังมีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อในระดับสูง จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจกลับมาแพร่ระบาดของโรค
"ถ้าไม่มีกฎหมาย ตัวเลขที่สูงๆอยู่ในต่างประเทศอาจจะไหลเข้ามา เพราะโรคติดต่อโรคระบาดไม่มีพรมแดน"
โฆษก ศบค. กล่าวถึงขั้นตอนและระยะเวลา การจัดทำมาตราการผ่อนคลายในระยะที่ 3 จะมี 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงวันที่ 23-24 พ.ค.63 จัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตราการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตราการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019 (โควิด-19)
ช่วงวันที่ 25-26 พ.ค.63 ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตราการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตราการในการป้องกันและยับยังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019 (โควิด-19)
วันที่ 27 พ.ค. 63 ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตราการในการป้องกันและยับยังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019 (โควิด-19)
วันที่ 29 พ.ค.63 ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครโรนา 2019 (โควิด-19)
และวันที่ 1 มิ.ย.63 มาตราการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้
ส่วนจะมีการผ่อนคลายเคอร์ฟิวหรือไม่ รวมถึงกิจการ กิจกรรม อะไรที่จะได้ผ่อนปรนบ้างในระยะที่ 3 บ้างนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องระยะเวลาเคอร์ฟิว แต่ถ้าประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือไม่ออกนอกสถานที่ เว้นแต่ไปทำงานกันจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะลดช่วงเวลาของเคอร์ฟิวลง ส่วนจะเป็นกี่ชั่วโมง อย่างไรคงต้องรอการประชุม ศบค.ในครั้งต่อไป ส่วนจะมีกิจการอะไรบ้าง จะยังใช้หลักการเดิม ถ้าใครสุ่มเสี่ยงก็ยังไม่พิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ ขอให้รอการประชุมในครั้งต่อไป