นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสม 3,042 ราย ผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 7 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรวม 2,928 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 57 ราย ขณะที่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 57 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย รายแรกเป็นผู้ป่วยหญิง ชาวจีน อายุ 46 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยชาวอิตาลีที่รายงานไปก่อนหน้านี้ โดยเข้ามาในจ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. พร้อมครอบครัว 5 คน ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. ย้ายมาพักที่ต.เชิงทะเล เนื่องจากกลับประเทศไม่ได้ และตรวจพบเชื้อวันที่ 24 พ.ค. (ไม่มีอาการ)
ผู้ป่วยใหม่ รายที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปี อาชีพพนักงานนวด กลับจากรัสเซีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. และเข้าพัก State Quarantine ที่จ.ชลบุรี และตรวจพบเชื้อ โดยที่ไม่มีอาการ
ส่วนผู้เสียชีวิต เป็นหญิงไทย อายุ 68 ปี มีการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้าในจ.ชุมพร เป็นเบาหวานและไตวายระยะสุดท้าย เข้ารับการรักษาวันที่ 29 มี.ค. มีอาการไข้ หอบเหนื่อย ต้องเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ พบว่า วันที่ 14 เม.ย.มีผลตรวจติดเชื้อ และอาการแย่ลง และ เสียชีวิตวันที่ 24 พ.ค. ติดเชื้อในกระแสเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดไทม์ไลน์กรณีชายไทยอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เดินทางไปตัดผมย่านประชาชื่นว่า ทีมสอบสวนโรคได้ทำการสอบสวนย้อนขึ้นไปก่อนวันที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการในวันที่ 17 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ซึ่งผู้ป่วยได้ไปรับยาเคมีบำบัดที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง จากนั้นวันที่ 7 พ.ค.ไปทำ Bone scan ที่ รพ.รัฐแห่งที่ 2 วันที่ 8 พ.ค. ไปรับผล Bone scan ที่ รพ.รัฐแห่งที่ 2 และนำผลไปให้แพทย์ที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง จากนั้นวันที่ 12 พ.ค.ไปเจาะเลือดที่ รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง วันที่ 14 พ.ค.ไปทำ CT scan ที่รพ.รัฐแห่งที่หนึ่ง วันที่ 15 พ.ค.ไปตลาดใน จ.นนทบุรี วันที่ 16 พ.ค. ไปตรวจที่ รพ.เอกชน และจนถึงวันที่ 17 พ.ค.เริ่มมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย วันที่ 18 พ.ค.ได้เข้าตรวจและรับยาที่ รพ.เอกชนแห่งที่หนึ่ง แล้วเดินทางไปร้านอาหารแห่งหนึ่ง และร้านตัดผมย่านประชาชื่น จากนั้นเข้าตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งที่หนึ่ง โดยเวลา 23.30 น. เริ่มมีอาการไข้ หนาวสั่น จึงเรียกรถพยาบาล รพ.เอกชนไปรับตัวที่บ้าน และย้ายไปเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์ในวันที่ 20 พ.ค.
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยรายนี้มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานที่น่าสงสัยว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวจะได้รับเชื้อมานั้น มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นว่าจะมาจากสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏตามไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยเดินทางไปก่อนที่จะติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐแห่งที่ 1, รพ.รัฐแห่งที่ 2, รพ.เอกชน หรือแม้แต่ร้านอาหาร และร้านตัดผม
"การสอบสวนโรคตั้งแต่ก่อนตรวจพบเชื้อว่าติดมาจากที่ไหน และหลังตรวจพบเชื้อคือดูนำไปแพร่เชื้อให้ใครต่อ ซึ่งพบว่ามีที่น่าสงสัยทั้ง รพ.รัฐแห่งที่ 1 รพ.รัฐแห่งที่ 2 ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นร้านตัดผม หรือร้านอาหารตามที่เกิดเป็นกรณีขึ้นมา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
พร้อมระบุว่า ทีมสอบสวนโรคยังได้มีการติดตามต่อไปยังร้านอาหารและร้านตัดผมที่ผู้ป่วยเข้าไปใช้บริการ ซึ่งพบว่าทั้ง 2 ร้านได้ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด มีการตรวจ และกักกันตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างน้อย 14 วันแล้ว
"17 พ.ค. เราเพิ่งบอกให้มีการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ ร้านค้ายังเข้าร่วมไม่เยอะ 2 ร้านนี้คงยังไม่เข้าระบบ คนที่ไปใช้บริการก็ยังไม่มีการสแกน QR Code ถ้ามีการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะเชื่อว่าจะง่ายกว่านี้ ระบบจะบอกได้ทันที เราจะเห็นภาพ...ท่านใดที่สงสัยว่าจะอยู่ในไทม์ไลน์ สัมผัส หรือเกี่ยวข้อง ให้มารับการตรวจที่ รพ.โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูก เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีระบบควบคุมโรคที่ดี ท่านสามารถร้องขอมาได้ เพื่อความสบายใจ" โฆษก ศบค.ระบุ
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงยอดสะสมของร้านค้า กิจการ/กิจกรรม ที่มาลงทะเบียนในแพลตฟอร์มไทยชนะว่า ล่าสุดมีจำนวนทั้งสิ้น 106,235 ร้านค้า มีประชาชนเข้าใช้งานสะสม 11,757,624 คน พร้อมเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเว็บไซต์ไทยชนะปลอม ซึ่งจะถูกหลอกให้ดาวน์โหลดเพื่อล้วงข้อมูลส่วนบุคคล โดยยืนยันว่าแพลตฟอร์มไทยชนะของจริงนั้น จะไม่มีการขอให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเว็บไซต์ของจริงจะมีเพียง www.ไทยชนะ.com หรือ www.thaichana.com และมีการขอข้อมูลเพียงแค่เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปใช้เฉพาะการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่มีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
สำหรับการรับตัวคนไทยตกค้างที่จะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศนั้น วันนี้จะมีคนไทย 395 คน เดินทางกลับมาจากประเทศต่างๆ ดังนี้ ศรีลังกา 78 คน, ญี่ปุ่น 50 คน, ญี่ปุ่น 117 คน และเกาหลีใต้ 150 คน ส่วนวันพรุ่งนี้ (26 พ.ค.) จะมีคนไทยอีก 400 คน เดินทางกลับมาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อิตาลี 50 คน, มาเลเซีย 150 คน, ญี่ปุ่น 35 คน และ ไต้หวัน 165 คน ซึ่งจากเดิมศักยภาพในการรองรับคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาพักใน State Quarantine นั้นมีเพียง 200 คน/วัน แต่ปัจจุบันได้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทำให้สามารถรองรับได้มากถึงสูงสุดไม่เกิน 400 คน/วัน
โดยปัจจุบัน มีผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในสถานที่กักกันของรัฐทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค สะสมรวมทั้งสิ้น 25,385 คน กลับบ้านได้แล้ว 16,101 คน และปัจจุบันยังอยู่ในสถานกักกันอีก 9,284 คน สำหรับผู้ที่เข้ารับการกักตัวและตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมียอดสะสม 105 คน กลับบ้านได้แล้ว 81 คน โดยยังรักษาตัวอยู่ใน รพ.อีก 24 คน
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการลงทะเบียนของร้านค้าเพื่อเข้าใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะว่า ขณะนี้พบว่ามีประมาณ 20,000 ร้านค้า ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่ผ่านการยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นการลงทะเบียนไม่ถูกต้อง และอาจทำให้ QR Code ของร้านที่นำไปให้ลูกค้าสแกนอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถใช้งานได้นับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ดังนั้นขอให้ร้านค้าที่ได้เคยลงทะเบียนไว้แล้ว ช่วยตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนให้ถูกต้องด้วย
อย่างไรก็ดี ในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดทำแพลตฟอร์มไทยชนะให้สามารถใช้งานในภาษาอื่นๆ ได้เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่รองรับเพียงแค่ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเท่านั้น เช่น ภาษาจีน, มาเลเซีย, กัมพูชา, เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และความจำเป็นที่ ศบค.ต้องมีการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว
ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะแล้วได้รับ SMS ขยะ เช่น การพนันต่างๆ เข้ามายังโทรศัพท์มือถือนั้น นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการส่ง SMS เข้ามาจากการไปลงทะเบียนในแพลตฟอร์มไทยชนะที่เป็นของปลอม เพราะของจริงจะไม่มีการส่ง SMS ใดๆ ไปให้ทั้งนั้น ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย