นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยในประเทศค่อนข้างน้อย แนวโน้มเจอผู้ป่วยประปรายเป็นระยะๆ จากเดิมที่เจอวันละ 100 คนก็เลยวันละไม่กี่คน ถ้ายังคงแนวโน้มลักษณะจำนวนผู้ป่วยอย่างนี้ต่อไป ก็จะยังคงสภาวะของการมีการแพร่ระบาดในวงจำกัดต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว ซึ่งเป็นภาพที่เราอยากจะเห็น ไม่อยากเห็นผู้ป่วยกลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สภาพตอนนี้คล้ายสถานการณ์การพบผู้ป่วยเหมือนช่วง ก.พ.ถึงต้น มี.ค. ที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ที่แตกต่างคือลักษณะการป้องกันตัวของคนไทยดีขึ้นกว่าช่วงต้นมี.ค.มาก
นพ.ธนรักษ์ กล่าวย้ำถึงมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 จะประกอบด้วย 1. มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการระดับบุคคล และมาตรการระดับองค์กร
มาตรการทางสาธารณสุข ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ มาตรการป้องกัน มาตรการค้นหา มาตรการรักษา และมาตรการควบคุม ในส่วนของมาตรการป้องกัน ซึ่งเน้นกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางและเจอผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ, มาตรการค้นหา แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ส่วนที่ 2 คือการเฝ้าระวังซึ่งบางที่อาจจะเรียกว่าเป็นการเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มประชากรเฉพาะพื้นที่
"มาตรการสาธารณสุขถ้าดำเนินการได้อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพก็จะลดโอกาสที่จะกลับไปใช้มาตรการทางสังคมที่เป็นมาตรการภาคบังคับ"นพ.ธนรักษ์ กล่าว
มาตรการระดับบุคคล ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะมีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดี และต้องไม่เอาเชื้อกลับเข้ามาในบ้าน ขณะที่คนในครอบครัวก็จะต้องหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น เพราะบ้านเป็นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงการไปพบปะสังสรรค์หรืออยู่กันเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ใส่หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลาง
มาตรการระดับองค์กร ที่อยากจะเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนกันต่อไปคือส่งเสริมให้ข้าราชการและพนักงานทำงานที่บ้านเต็มที่ ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้แทนของบริษัทรถไฟฟ้าว่าขณะนี้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้นจากเดิมที่ขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้านทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก แต่ตอนนี้เริ่มทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นแล้วโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่จำนวนผู้ใช้บริการหนาแน่นทำให้เกินศักยภาพที่รถไฟฟ้าแต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ ซึ่งองค์กร หน่วยงานราชการ บริษัทมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ทำงานจากบ้านให้มากที่สุดและขณะเดียวกันก็เหลื่อมเวลาทำงาน
นอกจากนี้การทำธุรกรรมออนไลน์ การออกแบบทางวิศวกรรมมาใช้ในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบระบายอากาศ แผงกั้น เรื่องของการคัดกรองพนักงาน การใช้แพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่น QR Code ต่างๆ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนและให้ผู้รับบริการอยู่ในสถานที่ของเราให้สั้นที่สุดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้คนน้อยที่สุด
"อยากให้ผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำต่อไป อย่าง กทม.ที่มีประชากร 8 ล้านคน ถ้ายังมีผู้ป่วย 40 ราย ก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัด แต่ถ้ามากกว่านี้มาตรการอื่นๆ ก็ต้องกลับมา" นพ.ธนรักษ์ กล่าว